การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาความเครียดในการปฏิบัติงานและกลวิธีเผชิญความเครียดของพยาบาลหัวหน้างาน กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ จำแนกตามระดับอายุ แผนกการพยาบาลที่ปฏิบัติงาน ประสบการณ์ในการบริหารงาน และเปรียบเทียบกลวิธีเผชิญความเครียดของพยาบาลหัวหน้างาน กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามความเครียดในการปฏิบัติงาน กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ คือ พยาบาลหัวหน้างาน กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 74 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบวัดความเครียดในการปฏิบัติงานและกลวิธีเผชิญความเครียดแบบมุ่งแก้ไขปัญหา แบบมุ่งแก้ไขอารมณ์ และแบบหลีกหนี จำนวน 30 ข้อ มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น .899, .897, .809 และ .866 ตามลำดับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t – test การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One – way ANOVA) ผลการศึกษาค้นคว้าปรากฏดังนี้
1. พยาบาลหัวหน้างาน โดยรวมและจำแนกตามระดับอายุ แผนกการพยาบาลที่ปฏิบัติงาน และประสบการณ์ในการบริหารงาน มีความเครียดในการปฏิบัติงานอยู่ในระดับต่ำ มีค่าเฉลี่ยกลวิธีเผชิญความเครียด แบบมุ่งแก้ไขปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง แต่ในแบบมุ่งแก้ไขอารมณ์ และแบบหลีกหนีอยู่ในระดับต่ำ
2. พยาบาลหัวหน้างาน ที่มีระดับอายุ แผนกการพยาบาลที่ปฏิบัติงานและประสบการณ์ในการบริหารงานต่างกัน มีค่าเฉลี่ยความเครียดในการปฏิบัติงานไม่แตกต่างกัน มีค่าเฉลี่ยกลวิธีเผชิญความเครียดแต่ละแบบ คือ แบบมุ่งแก้ไขปัญหา แบบมุ่งแก้ไขอารมณ์ และแบบหลีกหนีไม่แตกต่างกัน
3. พยาบาลหัวหน้างานที่มีความเครียดในการปฏิบัติงานในระดับปานกลางและระดับต่ำ มีการใช้กลวิธีเผชิญความเครียดแบบมุ่งแก้ไขปัญหาและแบบหลีกหนีไม่แตกต่างกันแต่มีการใช้กลวิธีเผชิญความเครียดแบบมุ่งแก้ไขอารมณ์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
จากการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงความเครียดในการปฏิบัติงานและกลวิธีเผชิญความเครียดของพยาบาลหัวหน้างาน กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ และเป็นแนวทางในการศึกษาความเครียดในการปฏิบัติงาน และกลวิธีเผชิญความเครียดของกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
|