การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการ (Operational study) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานการพยาบาลป้องกันแผลกดทับในโรงพยาบาลนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ การศึกษาแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ 1) เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์และเตรียมการสร้างมาตรฐานการพยาบาล โดยการหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการจากการสัมภาษณ์และสังเกตพยาบาลผู้ให้บริการและผู้ดูแล 2) การกำหนดมาตรฐานการป้องกันการเกิดแผลกดทับ โดยใช้วิธีประชุมแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้พยาบาลผู้มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันแผลกดทับและพยาบาลประจำการได้ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะและสร้างร่างมาตรฐานการพยาบาล 3) การตรวจสอบคุณภาพของมาตรฐานการพยาบาลที่สร้างขั้น โดยการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา โดยนำร่างมาตรฐานการพยาบาลให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 13 ท่าน พิจารณาความตรงตามเนื้อหาพร้อมกับให้ข้อเสนอแนะจากนั้น นำมาปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ ก่อนที่จะนำไปหาความตรงตามเกณฑ์สัมพันธ์ระหว่างมาตรฐานเชิงกระบวนการและมาตรฐานเชิงผลลัพธ์ โดยนำไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพ 10 คน ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ 10 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกกิจกรรมการปฏิบัติตามมาตรฐานการพยาบาล การสัมภาษณ์และการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมโดยเลือกหน่วยงาน 5 หน่วยงาน เป็นพื้นที่ในการทดลองใช้มาตรฐานการพยาบาลที่สร้างขั้น วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ร้อยละ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ระยะที่ 4 ประกาศเป็นนโยบายเพื่อให้มาตรฐานนำไปสู้การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ผลการศึกษาพบว่า มาตรฐานการพยาบาลในการป้องกันการเกิดแผลกดทับ ประกอบด้วยมาตรฐานเชิงกระบวนการและมาตรฐานเชิงผลลัพธ์ จำนวน 5 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 1 ผู้ป่วยปลอดภัยจากแผลกดทับ
มาตรฐานที่ 2 ผู้ป่วยปลอดภัยจากแรงเสียดทานและแรงเฉือน
มาตรฐานที่ 3 ผู้ป่วยที่เสี่ยงมากต่อการเกิดแผลกดทับได้รับการดูแลผิวหนังให้แห้งและสะอาด
มาตรฐานที่ 4 ผู้ป่วยได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอกับความต้องการของร่างกายสะอาด
มาตรฐานที่ 5 ผู้ป่วยและญาติได้รับการดูแลด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม คลายความวิตกกังวลและผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้
ผลของการศึกษาในครั้งนี้ช่วยให้พยาบาลที่ปฏิบัติงานในกลุ่มการพยาบาล มีความรู้ความเข้าใจและตะระหนักถึงคุณภาพการพยาบาล มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถนิเทศ ติดตามประเมินผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมคุณภาพการพยาบาลซึ่งเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยและผู้รับบริการ
|