พยาบาลเป็นกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งในองค์กรโรงพยาบาล ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก ดังจะเห็นได้ว่าพยาบาลเข้าไปมีบทบาททุกจุดของหน่วยงาน เพื่อให้บริการทางด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการ ลักษณะงานบางอย่างเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ นอกจากงานด้านการรักษาพยาบาลแล้ว ยังมีภาระงานอื่นๆ อีก เช่น การให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและญาติ การนิเทศงานนักศึกษาพยาบาล งานเอกสารทะเบียนต่างๆ รวมทั้งการเตรียมพร้อมเข้าสู่การรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล ทำให้พยาบาลประจำการมีภาระงานเพิ่มขึ้น ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่หลายบทบาทในเวลาเดียวกัน และภาระงานที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความสับสน อ่อนล้า เหนื่อยหน่ายและไม่พึงพอใจในงาน ทำให้เกิดเจตคติทางลบต่องานการอุทิศตนหรือความผูกพันในงานลดลง ย่อมส่งผลต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้รับบริการโดยตรง การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้เป็นการศึกษาระดับความพึงพอใจ ในการปฏิบัติงานของพยาบาลโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมาเพื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในงานของพยาบาล จำแนกตามอายุ ประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ตำแหน่ง และลักษณะงาน กลุ่มตัวอย่าง คือพยาบาลประจำการในโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา จำนวน 266 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าเป็นแบบสอบถาม แบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย อายุ ประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ตำแหน่ง และลักษณะงาน ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน โดยใช้กรอบแนวคิดของ Herzberg ปรกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยจูงใจและปัจจัยค้ำจุน ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวน (Anova) และทดสอบรายคู่โดยใช้ Tukey
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจในการทำงานโดยรวมอยู่ในระดับมาก มีเพียงด้านเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการ ซึ่งเป็นปัจจัยค้ำจุนที่กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง แต่เนื่องจากเงินเดือน ค่าตอบแทน ต้องเป็นไปตามระเบียบราชการดังนี้ ผู้บริหารอาจต้องคำนึงถึงการส่งเสริมสวัสดิการต่างๆ เช่น สวัสดิการบ้านพัก หรือมีห้องพักสำหรับพยาบาลเวรที่สะดวกสบาย การพิจารณาความดีความชอบ มีการพิจารณาค่าตอบแทนตามความเสี่ยงในการดูแล และจัดบุคลากรให้เพียงพอกับปริมาณงานในแต่ละเวร แต่ทั้งนี้ควรคำนึงถึงการส่งเสริมให้บุคลากรมีสมรรถนะในการทำงานที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยในการเพิ่มความพึงพอใจในปัจจัยค้ำจุนด้านอายุ ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานพบว่า ไม่มีความแตกต่างสอดคล้องกับทฤษฎีของ Herzberg ที่กล่าวถึงปัจจัยจูงใจและปัจจัยค้ำจุน ส่งผลให้เกิดความพึงพอใจในงาน โดยไม่มีความแตกต่างในด้านอายุและประสบการณ์
โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา เป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่ให้การดูแลประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งมีลักษณะให้การดูแลแบบตติยภูมิ ซึ่งเป็นการดูแลที่ซับซ้อนทั้งยังมีจำนวนเตียงที่สามารถรองรับผู้มารับบริการได้ จึงถือได้ว่าพยาบาลต้องทำงานหนัก ซึ่งอาจเกิดความเหนื่อยล้าได้ แต่ถ้าหากมีการบริหารที่สามารถจูงใจบุคลากรได้ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของงานได้
|