ชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์ ความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการบริหารคุณภาพ
ทั้งองค์กรของหัวหน้าหอผู้ป่วย ความสามารถในการ
ทำงานของพยาบาลประจำการ กับประสิทธิผลของ
หอผู้ป่วยตามการรับรู้ของพยาบาลประจำการ
โรงพยาบาลศูนย์
ชื่อผู้เขียน ฉฎาธร ปรานมนตรี
พยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพยาบาล
อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุญใจ ศรีสถิตนรากูร
ปีที่สำเร็จการศึกษา 2547
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการบริหารคุณภาพทั้งองค์กรของหัวหน้าหอผู้ป่วย ความสามารถในการทำงานของพยาบาลประจำการกับประสิทธิผลของหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของพยาบาลประจำการ โรงพยาบาลศูนย์กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลประจำการที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปในโรงพยาบาลศูนย์ จำนวน 348 คน ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างทั้งแบบชั้นภูมิ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามความสามารถในการบริหารคุณภาพทั้งองค์กรของหัวหน้าหอผู้ป่วย แบบสอบถามความสามารถในการทำงานของพยาบาลประจำการ และแบบสอบถามประสิทธิผลของหอผู้ป่วยมีค่าความเที่ยงเท่ากับ .97 .95 .92 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติแจกแจงความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า1.ค่าเฉลี่ยประสิทธิผลของผู้ป่วยโรงพยาบาลศูนย์ ความสามารถในการบริหารคุณภาพทั้งองค์กรของหัวหน้าหอผู้ป่วย ความสามารถในการทำงานของพยาบาลประจำการอยู่ในระดับมาก ([Mean] = 3.91, [Mean] = 3.88 และ [Mean] = 4.04 ตามลำดับ 2. ความสามารถในการบริหารคุณภาพทั้งองค์กร ของหัวหน้าหอผู้ป่วย มีความสัมพันธ์ทางบวกกับประสิทธิผลของหอผู้ป่วยในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 (r = .593 ) 3. ความสามารถในการทำงานของพยาบาประจำการ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับประสิทธิผลของหอผู้ป่วยในระดับสูง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 (r = .724 )
ชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์ ตัวชี้วัดคุณภาพการบริหารการพยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤต
โรงพยาบาลศูนย์
ชื่อผู้เขียน ชลธิรา กองจริต
พยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพยาบาล
อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุญใจ ศรีสถิตนรากูร
ปีที่สำเร็จการศึกษา 2547
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตัวชี้วัดคุณภาพการบริหารการพยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤตโรงพยาบาลศูนย์
โดยใช้วิธีเชิงประจักษ์ วิธีดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลักดังนี้ ขั้นที่ 1 กำหนดกรอบแนวคิดเบื้องต้นของการวิจัย โดยทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 10 ท่าน ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในหอผู้ป่วยวิกฤตโรงพยาบาลศูนย์ ขั้นที่ 2 สร้างเครื่องมือโดยใช้แบบสอบถามตัวชี้วัดคุณภาพการบริหารการพยาบาลหอผู้ป่วย และตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือโดยการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ และหา
ค่าความเที่ยงของเครื่องมือโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.97 ขั้นที่ 3 รวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีประสบการณ์ทำงานในหอผู้ป่วยวิกฤต 5 ปีขึ้นไป จำนวน 678 คน แบบสอบถามฉบับสมบูรณ์คิดเป็นร้อยละ 96 วิเคราะห้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor analysis) สกัดองค์ประกอบด้วยวิธีองค์ประกอบหลัก หมุนแกนแบบออโธร์กอนอล ด้วยวิธีแวริแมกซ์ คัดเลือกตัวชี้วัดคุณภาพการบริหารการพยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลศูนย์ จากเกณฑ์ดังนี้ 1) องค์ประกอบตัวชี้วัดมีค่าไอกรนมากกว่า 1.0 2) องค์ประกอบตัวชี้วัดมีตัวชี้วัดย่อยไม่น้อยกว่า 3 ตัวแปรขึ้นไป 3) ตัวชี้วัดมีน้ำหนักองค์ประกอบอย่างน้อย 0.40
ผลการวิจัยพบว่า ตัวชี้วัดคุณภาพการบริหารการพยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลศูนย์ ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ สามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 67.67 โดยมีตัวชี้วัดดังนี้ 1) การนิเทศ ประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อย 11 ตัวชี้วัด อธิบายความแปรปรวนได้ 16.68% 2) การบริหารพัสดุและพื้นที่ ประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อย 11 ตัวชี้วัด อธิบายความแปรปรวนได้ 12.09% 3) ทีมสหสาขาและการศึกษาต่อเนื่อง ประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อย7 ตัวชี้วัด อธิบายความแปรปรวนได้ 9.51% 4) การจัดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อย 7 ตัวชี้วัด อธิบายความแปรปรวนได้ 8.79% 5) การจัดระบบงาน ประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อย 4 ตัวชี้วัด อธิบายความแปรปรวนด้ 8.76% 6) การควบคุมการติดเชื้อ ประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อย 6 ตัวชี้วัดอธิบายความแปรปรวนได้ 6.58% 7) การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยวิกฤต ประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อย 4 ตัวชี้วัด อธิบายความแปรปรวนได้ 5.328%
|