จากการดำเนินงานโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือน เมษายน2544 ได้มีการเปลี่ยนหลักการจัดสรรงบประมาณจากการให้งบประมาณในระบบราชการแบบเดิมเป็นแบบการซื้อขายบริการ (Purchaser Provider Split) ทำให้สถานพยาบาลของรัฐต้องปรับเปลี่ยน
จากสถานะผู้ให้บริการเป็นผู้ขายบริการและมีการหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บค่าบริการที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เนื่องจากสิทธิคุ้มครองและขั้นตอนในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสุขภาพของคนไทยในแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหากับเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานในการจัดเก็บค่าบริการสุขภาพ ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลของกระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม (Appreciation Influence Control :A-I-C) และกระบวนการบริหารแบบ POSDC ในการดำเนินจัดการแบบมีส่วนร่วมในการจัดเก็บค่าบริการสุขภาพผู้รับบริการของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครพนม กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตัวแทนองค์กรโรงพยาบาลชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บค่าบริการสุขภาพผู้เข้ารับบริการซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเวชระเบียน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจุดบริการผู้ป่วยนอก เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้บริการงานอุบัติเหตุฉุกฉิน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเภสัชกรรม เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทันตสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบริการผู้ป่วยตึกผู้ป่วยใน และเจ้าหน้าที่จัดเก็บเงินหรือผู้ปฏิบัติงานจัดทำข้อมูลเรียกเก็บค่าบริการสุขภาพ รวม 105 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 51 คน กลุ่มเปรียบเทียบ 54 คน การเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ การเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง เดือนมกราคม – มีนาคม 2551 โดยใช้แบบสอบถามวัดความรู้และวัดการมีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดเก็บค่าบริการสุขภาพผู้รับบริการ ก่อนการทดลองและหลังการทดลอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบ paired t- test กับ independent t-test
ผลการวิจัยพบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ของประเภทสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลและการมีส่วนร่วมดีกว่าก่อนการทดลอง และดีกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)โดยสรุป กระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วมโดยใช้กระบวนการ A-I-C และการบริหารจัดการแบบ POSDC ทำให้เกิดการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมในการจัดเก็บค่าบริการสุขภาพผู้รับบริการ จึงควรสนับสนุนส่งเสริมให้มีการนำกระบวนนี้ไปใช้ในการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆต่อไป
|