การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายประสบการณ์การบริหารบุคลากรด้วยความเอื้ออาทรของหัวหน้าหอผู้ป่วย ในโรงพยาบาลศูนย์ เขตภาคตะวันออก โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพตามแนวคิดเชิงปรากฎการณ์วิทยา เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก วิเคราะห์ข้อมูลตามแนวทางของโคไลซ์ซี (Colaizzi, 1978 cited in Streubert & Carpenter, 1995 , p.39) กลุ่มตัวอย่างที่ให้ข้อมูลจนถึงจุดที่ข้อมูลอิ่มตัวมี 6 คน
ผลการวิจัย พบว่าหัวหน้าหอผู้ป่วยให้ความหมายของความเอื้ออาทร ซึ่งเกิดขึ้นในบริบทของการบริหารบุคคลไว้ 5 ประด็นดังนี้
1. การช่วยเหลือบุคลากร โดยพบว่าหัวหน้าหอผู้ป่วยได้ช่วยเหลือบุคลากร ใน 3 ด้านคือ
1) ช่วยเหลือเมื่อบุคลากรมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน 2) ช่วยเหลือเมื่อบุคลากรมีปัญหาส่วนตัว 3) ช่วยเหลือเมื่อบุคลากรมีปัญหาครอบครัว
2. การมีความรู้สึกที่ดีต่อบุคลากร พบว่าหัวหน้าหอผู้ป่วยแสดงความรู้สึกที่ดีต่อบุคลากรใน 6 ลักษณะคือ 1) การให้ความรักและความจริงใจ 2) การเห็นอกเห็นใจและสงสาร 3) การเอาใจเขามาใส่ใจเรา 4) ความรู้สึกห่วงใย
5) ความกรุณา 6) การมีความรู้สึกเสมือนบุคลากรเป็นญาติ
3. การพัฒนาบุคลากรพบว่า หัวหน้าหอผู้ป่วยได้กระทำหรือแสดงออกถึงการพัฒนาบุคลากรใน 5 วิธี คือ
1) ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรได้ศึกษาต่อ 2) สนับสนุนให้บุคลากรมีการตัดสินใจ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และนำความคิดนั้นมาใช้ในการปฏิบัติงาน 3) สอนงาน 4) มอบหมายงานให้บุคลากร 5) ให้อำนาจในการตัดสินใจ
4. การประคับประคองจิตใจบุคลากร โดยพบว่า หัวหน้าหอผู้ป่วยได้แสดงออกใน 4 ลักษณะ คือ 1) การชมเชย 2) การให้เกียรติ 3) การรับฟัง 4) การให้คำปรึกษา
5. การเสริมสร้างพลังจิตวิญญาณให้เกิดแก่บุคลากร ด้วยการนำความเชื่อและการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนามาใช้ในการบริหารบุคลากร
ผลการวิจัยที่ได้นำไปสู่การเข้าใจความหมายในประสบการณ์การบริหรบุคลากรด้วยความเอื้ออาทรของหัวหน้าหอผู้ป่วย ในโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาแนวคิด และการปฏิบัติให้กับผู้บริหารตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการเตรียมผู้บริหารทางการพยาบาล รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา และการวิจัยต่อไป
|