งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความเครียดในงาน แหล่งก่อความเครียดในงาน และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระดับความเครียดในงานของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลพระปกเกล้าจังหวัดจันทบุรี ที่ปฏิบัติงานในแผนการการพยาบาลที่ต่างกัน กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลพระปกเกล้า สุ่มตัวอย่างแบบง่ายอย่างไม่แทนที่ จำนวน 237 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามแหล่งก่อความเครียดในงานที่ผู้วิจัยได้พัฒนาจากแบบสอบถาม ที่สร้างโดยสิริภรณ์ หันพงศ์กิตติกูล (2542) ตามแนวคิดของวีเลอร์และไรดิง (Wheeler & Riding, 1994) จำนวน 38 ข้อ ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ และมีค่าความเที่ยงของแบบสอบถามแหล่งก่อความเครียดในงานเท่ากับ .95 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวและทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าความแปรปรวน โดยเปรียบเทียบรายคู่ด้วยวิธี Scheffe
ผลการวิจัยพบว่า พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรีมีความเครียดในงานโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( M = 2.75, SD = 0.56) ส่วนในรายด้านพบว่าแหล่งก่อความเครียดในงานทั้ง 4 ด้าน ทำให้พยาบาลวิชาชีพมีความเครียดในงานระดับปานกลาง และพบว่าแหล่งก่อความเครียดรายข้อที่ทำให้พยาบาลมีความเครียดสูงสุด คือ งานด้านเอกสารและการบันทึกรายงานมีมากเกินไป และพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในแผนกการพยาบาลที่ต่างกันมีระดับความเครียดแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในแผนกอายุรกรรม มีค่าเฉลี่ยของระดับความเครียดในงานสูงกว่าพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในแผนกสูติกรรม
|