การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านองค์กรกับคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในกลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี จำนวน 216 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยสุ่มตัวอย่างแบบง่ายคำนวณ ตามสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างของแต่ละหอผู้ป่วย ใช้การจับฉลากแบบไม่แทนที่เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้เป็นแบบสอบถามแบบสอบถามปัจจัยด้านองค์กร ซึ่งประยุกต์มาจากแบบสอบถามของ รัตนา รองทองกูล (2543) และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตการทำงาน ตามแนวคิดของ วอลตัน ซึ่งประยุกต์มาจากแบบสอบถามของ ชลลดา ศรีประสิทธิ์ (2546) ได้รับการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือโดยการหาความตรงของเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน หาความเชื่อมั่นของแบบสอบถามโดยใช้วิธี Cronbach’s Alpha Coefficient แบบสอบถามปัจจัยด้านองค์กรได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .85 แบบสอบถามคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .91
ผลการวิจัยพบว่า
1. พยาบาลวิชาชีพมีระดับคะแนนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยด้านองค์กรอยู่ในระดับดี
2. คุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพรายรวมอยู่ในระดับพอใช้
3. ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านองค์กรกับคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูง (r = .754) เมื่อจำแนกปัจจัยองค์กรเป็นรายด้านพบว่าปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน และด้านบริหารจัดการ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพในระดับสูง ( r = .739, .710 ตามลำดับ) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ .01
|