การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยบริการ
จำแนกตามสาขาการผ่าตัด และต้นทุนกิจกรรมการพยาบาลผ่าตัด จำแนกตามระยะการผ่าตัด
งานห้องผ่าตัด โรงพยาบาลระนอง โดยทำการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง ได้แก่ ต้นทุนค่าแรง
ค่าวัสดุ และค่าลงทุน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2546
ร่วมกับการเก็บข้อมูลปัจจุบัน โดยการสังเกตการปฏิบัติกิจกรรมพยาบาลผ่าตัด
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ 1)
ข้อมูลต้นทุนค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าลงทุน และสถิติงานบริการผู้ป่วย 4 สาขาการผ่าตัด ได้แก่
สาขาการผ่าตัดศัลยกรรมกระดูก สูติ-นรีเวชกรรม ศัลยกรรมทั่วไป
และจักษุวิทยา ของปีงบประมาณ2546 2)
พยาบาลห้องผ่าตัดที่ขึ้นปฏิบัติงานในระหว่างการเก็บข้อมูล จำนวนทั้งสิ้น 17 คน 3)
ผู้ป่วยที่ได้รับการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลผ่าตัดของ 4
สาขาการผ่าตัด โดยทำการสังเกตการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลที่พยาบาลปฏิบัติแก่ผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 44 ราย
ระยะเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 3 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 1 แบบบันทึกข้อมูลการวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยบริการ ชุดที่ 2 พจนานุกรมกิจกรรมการพยาบาลผ่าตัด
งานห้องผ่าตัดโรงพยาบาลระนอง และชุดที่ 3
แบบบันทึกข้อมูลการวิเคราะห์ต้นทุนกิจกรรมการพยาบาลผ่าตัด เครื่องมือทั้ง 3 ชุด ได้รับการตรวจความตรงตามเนื้อหา และ เครื่องมือชุดที่ 3
ในส่วนแบบบันทึกปริมาณเวลาที่ใช้ในการสังเกตการปฏิบัติกิจกรรมมีค่าความเที่ยงเท่ากับ
.8
ผลการวิจัยพบว่า
1. ต้นทุนต่อหน่วยบริการ งานห้องผ่าตัด
โรงพยาบาลระนอง มีมูลค่าต้นทุนรวมทั้งหมด เท่ากับ 11,767,807.55 บาท
โดยมีอัตราส่วนต้นทุนรวมทางตรง : ต้นทุนสนับสนุน คิดเป็นร้อยละ 92.84 : 7.16
โดยต้นทุนรวมทางตรงมีอัตราส่วนของต้นทุนค่าแรง : ค่าวัสดุ : ค่าลงทุน คิดเป็นร้อยละ 31.31 : 34.30 : 27.23
2. ต้นทุนต่อหน่วยบริการ จำแนกตามสาขาการผ่าตัดจักษุวิทยา ศัลยกรรมกระดูก
ศัลยกรรมทั่วไป และ สูติ-นรีเวชกรรม เท่ากับ
6,309.26, 3,466.35, 2,499.75 และ 2,047.07
บาทต่อราย ตามลำดับ
3. ต้นทุนกิจกรรมการพยาบาลผ่าตัดรวมทุกกิจกรรม
จำแนกตามสาขาการผ่าตัดศัลยกรรมทั่วไป สูติ-นรีเวชกรรม ศัลยกรรมกระดูก และจักษุวิทยา เท่ากับ
763.48 , 669.35, 648.52 และ 535.77 บาทต่อรายตามลำดับ
4.
ต้นทุนกิจกรรมการพยาบาลระยะก่อนผ่าตัดที่มีต้นทุนสูงสุดคือ
กิจกรรมการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนผ่าตัดที่หอผู้ป่วย สาขาสูติ-นรีเวชกรรม
เท่ากับ 45.34 บาทต่อราย
5.
ต้นทุนกิจกรรมการพยาบาลระยะผ่าตัดที่มีต้นทุนสูงสุดคือ
กิจกรรมการเตรียมผู้ป่วยและช่วยเหลือทีมผ่าตัด สาขาศัลยกรรมทั่วไป เท่ากับ
196.17 บาทต่อราย
6.
ต้นทุนกิจกรรมการพยาบาลระยะหลังผ่าตัดที่มีต้นทุนสูงสุด
คือกิจกรรมการเยี่ยมผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่หอผู้ป่วย สาขาสูติ-นรีเวชกรรม
เท่ากับ 43.35 บาทต่อราย
|