การวิจัยเชิงบรรยายครั้งนี้
มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับสมรรถนะหลักของพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในงานผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลศูนย์ภาคใต้
สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย
โดยการจับสลากแบบไม่คืนที่ ได้กลุ่มตัวอย่าง 100 ราย
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย
1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป 2) แบบสอบถามการประเมินสมรรถนะหลักของพยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานในงานผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลศูนย์ภาคใต้
ซึ่งผู้วิจัยได้ประยุกต์จากหลักการและแนวคิด
สมรรถนะหลักในการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพ ของสำนักการพยาบาล (2549) ประกอบด้วย
สมรรถนะหลัก 5 ด้าน คือ 1) สมรรถนะด้านการมุ่งผลสัมฤทธิ์ 2)
สมรรถนะด้านการบริการที่ดี 3) สมรรถนะด้านการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ 4)
สมรรถนะด้านความร่วมแรงร่วมใจ และ 5) สมรรถด้านจริยธรรม
เครื่องมือได้ผ่านการตรวจสอบความตรงของเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน
และได้ตรวจหาความเที่ยงจากค่าความสอดคล้องภายใน
โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟ่าครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient)
(Polit & Hungler, 1995) ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.93
และรายด้าน ได้แก่ ความมุ่งผลสัมฤทธิ์ -
0.82 ด้านบริการที่ดี - 0.89 ด้านการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ – 0.73 ด้านความร่วมแรงร่วมใจ – 0.68 และด้านจริยธรรม
– 0.75 วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ร้อยละ
คะแนนเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย
พบว่าระดับสมรรถนะหลักของพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในงานผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลศูนย์ภาคใต้
โดยรวมกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 63
และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าด้านที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับสมรรถนะอยู่ในระดับสูงมี
3 ด้าน คือ ด้านจริยธรรมคิดเป็นร้อยละ 79 ด้านความร่วมแรงร่วมใจคิดเป็นร้อยละ 69
และด้านการบริการที่ดีคิดเป็นร้อยละ 65
และด้านที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีสมรรถนะอยู่ในระดับปานกลางมี 2 ด้าน คือ
การมุ่งผลสัมฤทธิ์คิดเป็นร้อยละ 53 และด้านการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพคิดเป็นร้อยละ
52
ผลการศึกษาครั้งนี้
สามารถช่วยให้ผู้บริหารทางการพยาบาลวางแผนพัฒนาสมรรถนะหลักของพยาบาลวิชาชีพในงานผู้ป่วยนอก
เพื่อให้การปฏิบัติงานมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักการพยาบาล
|