การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการบริหารของหัวหน้าหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของตนเอง และพยาบาลประจำการ ศึกษาระดับความพึงพอใจในงาน และความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการบริหารของหัวหน้าหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของพยาบาลประจำการ กับความพึงพอใจในงานของพยาบาลประจำการ ในโรงพยาบาลศูนย์ เขตภาคเหนือ กลุ่มตัวอย่างเป็นหัวหน้าหอผู้ป่วยจำนวน 84 คน ได้มาโดยวิธีสุ่มแบบแบ่งชั้น และพยาบาลประจำการ จำนวน 248 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบง่าย จากทุกหอผู้ป่วยที่เลือกหัวหน้าหอผู้ป่วยเป็นกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามรูปแบบการบริหารของหัวหน้าหอผู้ป่วย ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามทฤษฎีรูปแบบการบริหารของลีเคิร์ท นำไปหาความเชื่อมั่น โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค สำหรับหัวหน้าหอผู้ป่วยและพยาบาลประจำการ (แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.93 และ 0.90 ตามลำดับ) แบบสอบถามความพึงพอใจในงานของพยาบาลประจำการ ได้สร้างขึ้นตามแนวคิดของมุนสันและเฮดา (แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.93) ใช้สถิติ การแจกแจงความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการศึกษาพบว่า หัวหน้าหอผู้ป่วยรับรู้รูปแบบการบริหารของตนเอง เป็นแบบมีส่วนร่วม (ร้อยละ 76.19) ส่วนพยาบาลประจำการรับรู้รูปแบบการบริหารของหัวหน้าหอผู้ป่วย เป็นแบบปรึกษาหารือ (ร้อยละ 50.40) เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการบริหารของหัวหน้าหอผู้ป่วย ตามการรับรู้ของตนเองและพยาบาลประจำการ พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ( t = 9.70) ความพึงพอใจในงานโดยรวมของพยาบาลประจำการ อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 66.53) และรูปแบบการบริหารของหัวหน้าหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของพยาบาลประจำการ มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูง กับความพึงพอใจในงานของพยาบาลประจำการอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .001 ( r = 0.72)
ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัย ควรส่งเสริมให้หัวหน้าหอผู้ป่วยมีรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้พยาบาลประจำการมีระดับความพึงพอใจในงานที่สูงขึ้น อันจะส่งผลถึงประสิทธิภาพของการให้บริการด้านสุขภาพอนามัยได้ในที่สุด
|