เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานของบุคลากรพยาบาล เป็นเครื่องสะท้อนถึงปริมาณการพยาบาลที่เกิดจากกิจกรรมที่บุคลากรพยาบาลปฏิบัติและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการคำนวณหาอัตรากำลังที่แท้จริง การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานของบุคลากรพยาบาลในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลการอยู่กับผู้ป่วย กิจกรรมการพยาบาลอื่น ๆ กิจกรรมการรับผู้ป่วยใหม่ กิจกรรมการจำหน่ายผู้ป่วยและอัตราส่วนปริมาณงานทั้งหมดในแต่ละเวร ประชากรที่ศึกษาเป็นบุคลากรพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยใน โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร จำนวน 15 คน และกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่นอนรักษาในหอผู้ป่วยในระหว่าง 1 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย เครื่องมือจำแนกประเภทผู้ป่วยของสำนักการพยาบาล พ.ศ. 2547 แบบบันทึกการจำแนกประเภทผู้ป่วย คู่มือการสังเกตลักษณะการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลการอยู่กับผู้ป่วยและกิจกรรมการพยาบาลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การอยู่กับผู้ป่วยแบบบันทึกเวลาที่บุคลากรพยาบาลใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลการอยู่กับผู้ป่วยและกิจกรรมการพยาบาลอื่นๆ ที่ไม่ใช่การอยู่กับผู้ป่วย ได้ค่าความตรงตามเนื้อหา เท่ากับ 0.93 และ 0.97 และค่าความเที่ยงระหว่างผู้สังเกตในการจำแนกประเภทผู้ป่วยและการสังเกตขั้นตอนการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลของบุคลากรพยาบาล เท่ากับ 0.95 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. บุคลากรพยาบาลใช้เวลาในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลการอยู่กับผู้ป่วยในผู้ป่วยแต่ละประเภท ดังนี้
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากและต้องการการดูแลมากตลอดเวลา (4a) เท่ากับ 5.96 ชั่วโมง
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักและต้องการดูแลมากตลอดเวลา (3a) เท่ากับ 4.00ชั่วโมง
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักและต้องการการดูแลมาก (3b) เท่ากับ 0.67 ชั่วโมง
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักปานกลางและต้องการการดูแลมากตลอดเวลา (2a) เท่ากับ 1.01 ชั่วโมง
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักปานกลางและต้องการการดูแลมาก (2b) เท่ากับ 0.51 ชั่วโมง
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักปานกลางและต้องการการดูแลปานกลาง (2c) เท่ากับ 0.51 ชั่วโมง
ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้น แต่ต้องการการดูแลมาก (1b) เท่ากับ 0.39 ชั่วโมง
ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้น แต่ต้องการการดูแลปานกลาง (1c) เท่ากับ 0.25 ชั่วโมง
2. เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลการอยู่กับผู้ป่วยของบุคลากรพยาบาลในผู้ป่วยทั้งหมดใน
24 ชั่วโมง เฉลี่ยเท่ากับ 13.29 ชั่วโมง โดยเวรเช้าใช้เวลาเฉลี่ยในเวรเช้าเท่ากับ 7.49 ชั่วโมง เวรบ่ายเท่ากับ 3.90 ชั่วโมง และเวรดึกเท่ากับ 1.87 ชั่วโมง
3. เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การอยู่กับผู้ป่วยของบุคลากรพยาบาลใน 24
ชั่วโมง ใช้เวลาเฉลี่ยเท่ากับ 16.59 ชั่วโมง โดยเวรเช้าใช้เวลาเฉลี่ยเท่ากับ 7.03 ชั่วโมง เวรบ่ายใช้เวลาเฉลี่ยเท่ากับ 5.90 ชั่วโมง เวรดึกใช้เวลาเฉลี่ยเท่ากับ 3.66 ชั่วโมง
4. เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลการรับรู้ผู้ป่วยใหม่ของบุคลากรพยาบาลใช้เวลาเฉลี่ยต่อ
ผู้ป่วย 1 รายเท่ากับ 0.86 ชั่วโมง และในรอบ 24 ชั่วโมง ใช้เวลาในเวรเช้าเฉลี่ยเท่ากับ 3.37 ชั่วโมง เวรบ่ายเฉลี่ยเท่ากับ 3.17 ชั่วโมง และเวรดึกเฉลี่ยเท่ากับ 0.96 ชั่วโมง
5. เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลการจำหน่ายผู้ป่วยของบุคลากรพยาบาลใช้เวลาเฉลี่ยต่อ
ผู้ป่วย 1 ราย เท่ากับ 0.36 ชั่วโมง และในรอบ 24 ชั่วโมงใช้เวลาในเวรเช้าเฉลี่ยเท่ากับ 2.13 ชั่วโมง เวรบ่ายและเวรดึกไม่มีผู้ป่วยจำหน่าย
6. สัดส่วนปริมาณงานทั้งหมดของเวรเช้า เวรบ่าย เวรดึกเท่ากับ 43.13 :33.23:23.57
ผลการศึกษาครั้งนี้คาดว่า สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับปรุงระบบการมอบหมายงานและการจัดสรรบุคลากรพยาบาลในการให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานต่อไป
|