บทคัดย่อ
การศึกษาอิสระครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแบบประเมินสมรรถนะในการปฏิบัติการพยาบาลเฉพาะทางของพยาบาลวิชาชีพศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลขอนแก่น โดยศึกษาในพยาบาลวิชาชีพระดับปฏิบัติการที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลขอนแก่นที่มีประสบการณ์ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปในโรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 30 คน ดำเนินการโดยสำรวจความคิดเห็นในเรื่องการกำหนดสมรรถนะในการปฏิบัติการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพศัลยกรรมทั่วไป และจัดโครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแบบประเมินสมรรถนะในการปฏิบัติการพยาบาลเฉพาะทางของพยาบาลศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลขอนแก่น เพื่อสร้างแบบประเมินสมรรถนะที่ครอบคลุมการวัดทั้งด้านทักษะความชำนาญทางคลินิกและด้านความรู้ ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน และทดสอบหาความเชื่อมั่นของแบบประเมินสมรรถนะด้านทักษะความชำนาญทางคลินิกซึ่งเป็นแบบสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติการพยาบาลโดยทดลองใช้ในหอผู้ป่วยศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลขอนแก่น ได้แก่ หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย 1 หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย 2 และหอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง ได้ค่าความเชื่อมั่นในการสังเกตดังนี้ 1) แบบประเมินสมรรถนะการดูแลบาดแผลเรื้อรังมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 2) แบบประเมินสมรรถนะการเตรียมผู้ป่วยตรวจกระเพาะอาหารด้วยการส่องกล้อง มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95 3) แบบประเมินสมรรถนะการดูแลผู้ป่วยให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95 ซึ่งแบบประเมินสมรรถนะทั้ง 3 เรื่องมีค่าความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ สามารถนำไปใช้ในการประเมินสมรรถนะเพื่อนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรได้
ผลการศึกษา ได้แบบประเมินสมรรถนะในการปฏิบัติการพยาบาลเฉพาะทางของพยาบาลศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 3 เรื่อง ที่วัดครอบคลุมทั้งด้านความรู้ (Knowledge test) และทักษะในการปฏิบัติการพยาบาล (Observation checklist) ดังต่อไปนี้
1. สมรรถนะการดูแลบาดแผลเรื้อรัง (Chronic wound)
2. สมรรถนะการเตรียมผู้ป่วยตรวจกระเพาะอาหารด้วยการส่องกล้อง (Gastroscopy)
3. สมรรถนะการดูแลผู้ป่วยให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ (Parenteral nutrition)
ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ หอผู้ป่วยศัลยกรรมทั่วไปควรนำแบบประเมินสมรรถนะที่สร้างขึ้นไปใช้และประเมินผลการใช้แบบประเมินเพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารการพยาบาลด้านการประเมินผล การประเมินคุณภาพการพยาบาลและการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งปรับปรุงแบบประเมินที่สร้างขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วย พยาบาล หน่วยงาน และวิชาชีพ
|