บทคัดย่อ
การศึกษาอิสระครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานและกำหนดโครงสร้างข้อมูลในการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อการเลื่อนขั้นเงินเดือนของบุคลากรพยาบาล หน่วยงานห้องผ่าตัด โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยศึกษาจากบุคลากรพยาบาลในหน่วยงานห้องผ่าตัด โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร จำนวน 7 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย การประชุมกลุ่มโนมินอลและแบบสอบถามเรื่อง สารสนเทศที่ต้องการใช้ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อการเลื่อนขั้นเงินเดือนของบุคลากรพยาบาล หน่วยงานห้องผ่าตัด โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ
ผลการศึกษา
1. การวิเคราะห์ระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อการเลื่อนขั้นเงินเดือนของบุคลากรพยาบาล หน่วยงานห้องผ่าตัด โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พบปัญหาดังนี้
1.1 ไม่มีความยุติธรรมในการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อการเลื่อนขั้นเงินเดือน
1.2 กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อการเลื่อนขั้นเงินเดือนไม่เหมาะสม
1.3 ไม่มีมาตรฐานในการปฏิบัติงานเป็นรูปธรรม
1.4 แบบฟอร์มการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อการเลื่อนขั้นเงินเดือนไม่เหมาะสม
1.5 ข้อมูลการบริหารงานบุคคลไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วน
2. โครงสร้างข้อมูลในการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อการเลื่อนขั้นเงินเดือนของบุคลากรพยาบาล หน่วยงานห้องผ่าตัด โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ประกอบด้วย
2.1 ด้านภาระงาน แบ่งออกเป็น ภาระงานหลักและภาระงานรอง
2.1.1 ภาระงานหลัก แบ่งออกเป็น ด้านบริการ ด้านวิชาการและด้านบริหาร
2.1.1.1 ด้านบริหาร แบ่งออกเป็นระยะก่อนผ่าตัด ระยะผ่าตัด และระยะหลังผ่าตัด
(1) ด้านบริการระยะก่อนผ่าตัด ได้แก่ การเยี่ยมตรวจผู้ป่วยก่อนผ่าตัด การประเมินความพร้อมของผู้ป่วยซ้ำก่อนเคลื่อนย้ายเข้าห้องผ่าตัด การพยาบาลและเฝ้าระวังผู้ป่วยขณะรอผ่าตัด การเตรียมตัวพร้อมเข้าร่วมทีมผ่าตัด การเตรียมความพร้อมของเครื่องมือ เครื่องใช้ การประเมินความพร้อมเกี่ยวกับการเตรียมให้ยาระงับความรู้สึก
(2) ด้านบริการระยะผ่าตัด ได้แก่ การจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการของทีมผ่าตัดให้ทันเวลา การช่วยผ่าตัดโดยระมัดระวังการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและคงสภาพการปราศจากเชื้อในบริเวณผ่าตัด การตรวจสอบสิ่งตกค้างก่อนเย็บปิดแผล
(3) ด้านบริการระยะหลังผ่าตัด ได้แก่ การเยี่ยมตรวจผู้ป่วยหลังผ่าตัด การเตรียมความพร้อมของห้องผ่าตัด และเครื่องมือสำหรับผู้ป่วยรายต่อไป
2.1.1.2 ด้านวิชาการ มีข้อมูล/สารสนเทศเกี่ยวกับการสอนหรือเป็นพี่เลี้ยงให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี พยาบาลเทคนิค การให้ความร่วมมือหรือมีส่วนร่วมในการทำวิจัยทางการพยาบาลและนำผลการวิจัยมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการพยาบาลการปฐมนิเทศเจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติงานใหม่ และผู้ที่มารับการอบรม การจัดทำคู่มือการสอนการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว
2.1.1.3 ด้านบริหาร มีข้อมูล/สารสนเทศเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการจัดทีมพยาบาลผ่าตัด การวิเคราะห์ปัญหา แก้ไขอุปสรรคที่เกิดภายในงานห้องผ่าตัดการประเมินการให้บริการพยาบาลภายในงานห้องผ่าตัดและการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนางานห้องผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของงานห้องผ่าตัด กลุ่มงานโรงพยาบาลและองค์กรวิชาชีพ
2.1.2 ภาระงานรอง ได้แก่ การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการงานห้องผ่าตัดการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการทีมนำพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกลุ่มงานการพยาบาล
2.2 ด้านคุณลักษณะส่วนบุคคลที่พึงประสงค์ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับงานการพยาบาลห้องผ่าตัด ความสามารถในการเรียนรู้งานใหม่และการนำมาประยุกต์ใช้ความรับผิดชอบ ทักษะในการสื่อสาร
2.3 ด้านอื่นๆได้แก่ ปีที่ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ 1.5 ขั้น หรือ 2 ขั้น ข้อมูลเกี่ยวกับผลของการเลื่อนระดับ จำนวนปีคงเหลือเวลารับราชการ จำนวนวันลาต่อรอบพิจารณา
จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารควรนำโครงสร้างข้อมูลสารสนเทศดังกล่าวกำหนดเป็นนโยบาย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนบุคลากรพยาบาล หน่วยงานห้องผ่าตัด นำผลการศึกษาครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานอื่นๆและสามารถนำไปศึกษาเพิ่มเติมในการออกแบบแฟ้มข้อมูล ออกแบบฟอร์มรับข้อมูลนำเข้าระบบออกแบบการไหลของข้อมูลเข้าระบบ ออกแบบโปรแกรมประมวลผลข้อมูล ออกแบบรายงานรวมทั้งนำระบบมาใช้ในการปฏิบัติงานจริง
|