บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาอิสระ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย ของพยาบาลวิชาชีพ กลุ่มอายุรกรรม โรงพยาบาลอุดรธานี ดำเนินการศึกษาโดยจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย และจัดทำคู่มือการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย ให้กับพยาบาลวิชาชีพกลุ่มตัวอย่างคือ พยาบาลวิชาชีพจำนวน 37 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถามที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย ส่วนที่ 3 แบบปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย โดยใช้กระบวนการพยาบาล ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ตรวจสอบความที่ยงของแบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย โดยใช้สูตร KR – 20 ของคูเดอร์ ริชาร์ดสัน ได้ค่าความเที่ยง 0.73 ตรวจสอบความเที่ยงของแบบสอบถามการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย โดยใช้กระบวนการพยาบาล ใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach’s Alpha Coefficient) ได้ค่าความเที่ยงโดยรวม 0.98 และ รายด้าน ของการใช้กระบวนการพยาบาลดังนี้ ด้านการรวบรวมข้อมูลได้ค่าความเที่ยง 0.71 ด้านการวางแผนการพยาบาลได้ค่าความเที่ยง 0.80 ด้านการปฏิบัติตามแผนการพยาบาลได้ค่าความเที่ยง 0.88 และ ด้านการประเมินผลได้ค่าความเที่ยง 0.90
การเก็บรวบรวมแบบสอบถามแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ก่อนการอบรม เก็บรวบรวมแบบสอบถามส่วนที่ 1 ส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 หลังการอบรมในวันเดียวกันเก็บรวบรวมแบบสอบถามส่วนที่ 2 และช่วงหลังการอบรมและการทดลองใช้คู่มือการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยเป็นเวลา 1 เดือนเก็บรวบรวมแบบสอบถามส่วนที่ 3 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป โดยแจกแจงความถี่และร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลด้านความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย และข้อมูลด้านการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย โดยใช้กระบวนการพยาบาล โดยการหาค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้และการปฏิบัติก่อนและหลังการอบรม โดยใช้สถิติค่าที ( paired t - test)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยคะแนนหลังการอบรมสูงกว่าก่อนการอบรมแต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. การปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยโดยใช้กระบวนการพยาบาล คะแนนโดยรวมหลังการอบรมสูงกว่าก่อนอบรม แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสำหรับรายด้านพบว่า
2.1 ด้านการรวบรวมข้อมูล การปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย คะแนนหลังการอบรมสูงกว่าก่อนการอบรม และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.2 ด้านการวางแผนการพยาบาล การปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย คะแนนหลังการอบรมสูงกว่าก่อนการอบรม แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.3 ด้านการปฏิบัติตามแผนการพยาบาล การปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย คะแนนหลังการอบรมสูงกว่าก่อนการอบรม แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนับสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.4 ด้านการประเมินผลการปฏิบัติ การปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย คะแนนหลังการอบรมสูงกว่าก่อนการอบรม และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า การพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย โดยใช้กระบวนการพยาบาล ของพยาบาลวิชาชีพ โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการทำให้พยาบาลมีความรู้เพิ่มขึ้น และมีการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรจัดให้มีการอบรมเรื่องสิทธิผู้ป่วยและการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย โดยการนำกระบวนการพยาบาลมาใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล ตลอดจนมีการนิเทศ ติดตามประเมินผลการปฏิบัติเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง
|