จีรกานต์ สุขเมือง. 2547. การพัฒนาการใช้กระบวนการพยาบาลของพยาบาลประจำการงานผู้ป่วยใน ตา หู คอ จมูก กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ (The Development of Nursing Process Application of Staff Nurses in Eye Ear Nose Throat Ward at Petchaboon Hospital). รายงานการศึกษาอิสระปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพยาบาล บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น. [ISBN 974 – 659 – 772 – 8]
อาจารย์ที่ปรึกษาการศึกษาอิสระ : รองศาสตราจารย์วิภาพร วรหาญ
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาอิสระ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนาการใช้กระบวนการพยาบาล ของพยาบาลประจำการ โดยใช้การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพยาบาล และการใช้หลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ร่วมกับการวิเคราะห์หาแนวทางพัฒนาพร้อมนำแนวทางที่ได้สู่การปฏิบัติเป็นระยะเวลา 1 เดือน กลุ่มประชากรเป็นพยาบาลประจำการ ที่ปฏิบัติงานในงานผู้ป่วยใน ตา หู คอ จมูก กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ จำนวน 10 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ โครงการอบรมเรื่องกระบวนการพยาบาลและการใช้หลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ และแบบประเมินความรู้ ทัศนคติ และการใช้กระบวนการพยาบาลในการปฏิบัติการพยาบาล ที่ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน ทดสอบความเชื่อถือได้ของแบบประเมินความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพยาบาล โดยใช้สูตร คูเดอร์ ริชาร์ดสัน (Kuder Richardson : KR – 20 ) ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อถือได้เท่ากับ 0.72 แบบสอบถามทัศนคติ และการใช้กระบวนการพยาบาลในการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค (Cronbach’s Alpha Coefficient) ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อถือได้เท่ากับ 0.84 และ 0.95 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินก่อนและหลังการพัฒนาการใช้กระบวนการพยาบาลโดยการหาค่าความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ paired t – test
ผลการศึกษาพบว่า
คะแนนเฉลี่ยความรู้ ทัศนคติ และการใช้กระบวนการพยาบาลในการปฏิบัติการพยาบาลของพยาบาลประจำการ งานผู้ป่วยใน ตา หู คอ จมูก กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ หลังการพัฒนาการใช้กระบวนการพยาบาล สูงกว่าก่อนการพัฒนา และเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ย พบว่า ก่อนการพัฒนาและหลังการพัฒนา มีคะแนนเฉลี่ยความรู้ ทัศนคติและการใช้กระบวนการพยาบาลในการปฏิบัติการพยาบาลแตกต่างกันอยางมีนัยสำคัญ จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การอบรมในโครงการพัฒนาการใช้กระบวนการพยาบาลของพยาบาลประจำการ ทำให้พยาบาลประจำการมีความรู้ เสริมสร้างทัศนคติ และสามารถปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้กระบวนการพยาบาลได้ ดังนั้นผู้บริหารควรสนับสนุน และขยายผลการศึกษา สำหรับพยาบาลประจำการทุกคน ในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการและวิชาชีพต่อไ
|