บทคัดย่อ
การศึกษาอิสระครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดระยะวิกฤต ไอซียูศัลยศาสตร์ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอาศัยการค้นคว้าตำรา เอกสารทางวิชาการ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และใช้การจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการสร้างมาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดระยะวิกฤต ได้ร่างมาตรฐานการพยาบาลเชิงกระบวนการและเชิงผลลัพธ์ ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน นำไปปรับแก้และตรวจสอบความตรงตามความสัมพันธ์ตามแนวคิดของเมสัน ก่อนนำไปใช้กับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดระยะวิกฤตไอซียูศัลยศาสตร์ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ จำนวน 20 คน ระหว่างวันที่ 1 ถึง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละและการพิจารณาความสัมพันธ์ของข้อความมาตรฐานเชิงกระบวนการกับมาตรฐานเชิงผลลัพธ์
ผลการศึกษาได้มาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดระยะวิกฤตจำนวน 3 มาตรฐานใหญ่ 12 มาตรฐานย่อย ประกอบด้วยมาตรฐานเชิงกระบวนการ 86 ข้อใหญ่ 8 ข้อย่อย และมาตรฐานเชิงผลลัพธ์ 39 ข้อใหญ่ 14 ข้อย่อย โดยมีรายละเอียดของมาตรฐานทั้ง 3 ข้อคือ
มาตรฐานที่ 1 วิธีปฏิบัติการรับผู้ป่วยกลับจากห้องผ่าตัดภายหลังได้รับการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด ประกอบด้วย 4 มาตรฐานย่อยคือ
มาตรฐานที่ 1.1 การเคลื่อนย้ายและการจัดท่า
มาตรฐานที่ 1.2 การ Monitor และการต่ออุปกรณ์ต่างๆ
มาตรฐานที่ 1.3 การบริหารยา / สารน้ำ / เลือด / ส่วนประกอบของเลือด
มาตรฐานที่ 1.4 การประเมินสภาพเมื่อแรกรับ
มาตรฐานที่ 2 การพยาบาลผู้ป่วยและเผ้าระวังภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดระยะวิกฤต ประกอบด้วย 6 มาตรฐานคือ
มาตรฐานที่ 2.1 ผู้ป่วยมีปริมาณการสูบฉีดโลหิตที่ออกจากหัวใจอย่างเพียงพอ
มาตรฐานที่ 2.2 ผู้ป่วยมีการหายใจที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
มาตรฐานที่ 2.3 ผู้ป่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด
มาตรฐานที่ 2.4 ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะติดเชื้อ
มาตรฐานที่ 2.5 ผู้ป่วยปลอดภัยจากการเกิดการอุดกั้นของหลอดเลือดในสมอง ปอด และอวัยวะส่วนปลาย
มาตรฐานที่ 3 การเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด ด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคมก่อนย้ายออกจากไอซียูศัลยศาสตร์ ประกอบด้วย 2 มาตรฐานย่อยคือ
มาตรฐานที่ 3.1 การเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด ด้านจิตใจ อารมณ์และสังคมก่อนย้ายออกจากไอซียูศัลยศาสตร์
มาตรฐานที่ 3.2 การเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด ด้านร่างกายก่อนย้ายออกจากไอซียูศัลยศาสตร์
จากการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะสำหรับผู้บริหารการพยาบาล ว่าควรมีการจัดทำประกาศนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้มาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยประเภทต่างๆเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและการนิเทศทางการพยาบาล และควรมีการทบทวนมาตรฐานการพยาบาลที่สร้างขึ้นมาใช้นั้นทุก 1 – 2 ปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติการพยาบาลยิ่งขึ้น
|