การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาระดับความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การ
และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล
ปัจจัยด้านลักษณะงาน
และปัจจัยด้านประสบการณ์จากการทำงานกับความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การของพยาบาลวิชาชีพ
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ประชากรเป็นพยาบาลวิชาชีพ
ภาควิสัญญีวิทยา
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จำนวน 51 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1
แบบสอบถามปัจจัยส่วนบุคคล ส่วนที่ 2 แบบสอบถามความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การของมาวเดย์ สเทียร์ส และพอร์ตเตอร์ (Mowday, Steers, &
Porter, 1979) ซึ่งดัดแปลง
โดย สุพิศ กิตติรัชดา (2538)
และดรุณศรี สิริยศธำรง (2542) ผู้ศึกษานำแบบสอบถามความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การไปหาความเที่ยงได้ค่าแอลฟาของครอนบาค เท่ากับ .87
ส่วนที่ 3
แบบสอบถามปัจจัยคัดสรรที่เกี่ยวข้องกับความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การ
ซึ่งผู้ศึกษาสร้างขึ้นได้ค่าความตรงกันของผู้ทรงคุณวุฒิ เท่ากับ .84
และค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหา เท่ากับ .83
และความเที่ยงของแบบสอบถามได้ค่าแอลฟาของครอนบาค เท่ากับ .89
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เชิงอันดับแบบสเปียร์แมน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
ผลการศึกษาพบว่า
1. พยาบาลวิชาชีพ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การ โดยรวมอยู่ในระดับสูง
( m
= 3.79 , s = 0.75 ) และรายด้านแต่ละด้าน
คือ ด้านการมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการยอมรับเป้าหมาย
และค่านิยมขององค์การอยู่ในระดับสูง ( m = 3.83 , s = 0.73)
ด้านการมีความเต็มใจที่จะใช้ความเพียรพยายามอย่างมากเพื่อทำประโยชน์ให้องค์การ
อยู่ในระดับสูง ( m = 3.86 , s = 0.69) ด้านการมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะธำรงรักษาไว้ซึ่งการเป็นสมาชิกภาพขององค์การ
อยู่ในระดับสูง ( m = 3.65, s = 0.85)
2. ปัจจัยส่วนบุคคล
ไม่มีความสัมพันธ์กับความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การ
3. ปัจจัยด้านลักษณะงาน
และปัจจัยด้านประสบการณ์จากการทำงาน มีความสัมพันธ์ทางบวกระดับปานกลาง
กับความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r = 0.62 และ
0.67 ตามลำดับ)
ผลการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า
ผู้บริหารการพยาบาลควรส่งเสริมความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การของพยาบาลวิชาชีพ
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ให้สูงเช่นนี้หรือเพิ่มขึ้น และคำนึงถึงปัจจัยด้านลักษณะงาน
และปัจจัยด้านประสบการณ์จากการทำงานที่ก่อให้เกิดความยึดมั่นผูกพันต่อองค์การ
|