การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างอายุราชาการ ประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร คะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรการศึกษา และแรงจูงใจกับการรับรู้บทบาทและการปฏิบัติจริง รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบการรับรู้บทบาทและการปฏิบัติจริงของหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ตัวอย่างที่ศึกษาคือ หัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนใน 17 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย จำนวน 214 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบความตรงด้านเนื้อหา และได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นของแบบสอบถามเท่ากับ 0.73 , 0.99 และ 0.94 วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบค่าที ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า
1. หัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน มีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้บทบาทและการปฏิบัติจริงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ในทุกบทบาท
2. หัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี และต่ำกว่าปริญญาตรีมีการรับรู้บทบาทและการปฏิบัติจริงโดยรวมทุกด้านไม่แตกต่างกัน เมื่อแยกเป็นรายด้าน พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ .01 ตามลำดับ ในบทบาทด้านบริการพยาบาล
3. หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน ที่เคยได้รับการฝึกอบรมทางด้านการบริหารจัดการมีการรับรู้บทบาทและการปฏิบัติจริงโดยรวมทุกด้าน สูงกว่าผู้ที่ไม่เคยเข้ารับการฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อแยกเป็นรายด้านพบว่าบทบาทด้านบริการพยาบาลไม่แตกต่างกัน
4. อายุราชการ ประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร คะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรการศึกษา ไม่มีความสัมพันธ์กับการรับรู้บทบาทของหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนในทุกบทบาท
5. แรงจูงใจ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการรับรู้บทบาทของหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ในทุกบทบาท
6. อายุราชการ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปฏิบัติจริงของหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ในบทบาทด้านการบริหารจัดการที่ระดับ .05 ในบทบาทรวมทุกด้าน
7. ประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปฏิบัติจริงของหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในบทบาทด้านการบริหารจัดการ
8. คะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรการศึกษา มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปฏิบัติจริงของหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01ในบทบาทด้านการบริหารจัดการที่ระดับ
.05 ในบทบาทรวมทุกด้าน
9. แรงจูงใจมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปฏิบัติจริงของหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาล
ชุมชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ในทุกบทบาท
|