การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของการจัดการความรู้และการให้บริการที่มีคุณภาพในโรงพยาบาล
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายความตั้งใจและพฤติกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพยาบาลในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการจัดการความรู้ภาคเหนือตอนล่าง
กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 432 คน จาก 17
โรงพยาบาลในเขตภาคเหนือตอนล่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามปัจจัยทำนายพฤติกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ผู้วิจัยดัดแปลงจากเครื่องมือของ
ฐิติพัฒน์ พิชญธาดาพงศ์ (2548)
ที่สร้างขึ้นตามแนวทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน ของเอจเซ่น (Ajzen, 2002)
และแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นจากแนวคิดของ
โนนากะและทาเคอุจิ (Nonaka & Takeuchi, 1995) ประกอบกับการทบทวนวรรณกรรม
ค่าดัชนีความตรงของเครื่องมือทั้งสองเท่ากับ 0.97 และ 0.98
และค่าความเชื่อมั่นที่ทดสอบด้วยสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค เท่ากับ 0.94 ทั้งสองชุด
ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นแบบพหุด้วยวิธีนำตัวแปรเข้าทั้งหมด
ผลการวิจัยพบว่า
1.
ปัจจัยที่ใช้ทำนายความตั้งใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ
.001 ได้แก่ การรับรู้ความสามารถในการควบคุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
บรรทัดฐานกลุ่มอ้างอิง และเจตคติต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (b = 0.57 , 0.21
และ 0.15 ตามลำดับ)
2.
ปัจจัยที่ใช้ทำนายพฤติกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ ความตั้งใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
(b
= 0.21)
ผู้บริหารโรงพยาบาลและผู้บริหารทางการพยาบาลสามารถใช้ผลจากการศึกษาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนและกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมความตั้งใจและพฤติกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพยาบาลต่อไป
|