การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการต่อการจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต่อเนื่องที่บ้าน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Naturalistic Qualitative Research)
และสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากุล่ม การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม และการทบทวนเอกสาร โดยมีผู้ให้ข้อมูลเป็นบุคลากรทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง 27 คน ผู้ดูแล 22 คน และผู้ป่วย 4 คน ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบอุปนัย ( Inductive Content Analysis ) ผลการวิจัยพบว่า
ปัญหาในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง คือผู้ป่วยกลับมารักษาซ้ำด้วยภาวะแทรกซ้อนที่สามารถป้องกันได้ และญาติผู้ดูแลทอดทิ้งไม่ต้องการรับผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่บ้าน สาเหตุจากลักษณะการเจ็บป่วยของผู้ป่วยเรื้อรัง มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดูแลยากซับซ้อน มีปัญหาการเคลื่อนย้าย ญาติผู้ดูแลขาดความรู้ ขาดผู้ดูแล ผู้ดูแลมีปัญหาสุขภาพหรือผู้สูงอายุ มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัย รวมทั้งผู้ให้บริการขาดวางแผนจำหน่ายที่ดีและระบบการส่งต่อยังมีปัญหา
ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการส่วนมากต้องการให้มีการจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต่อเนื่องที่บ้าน โดยลักษณะผู้ป่วยที่ควรใช้บริการ เป็นผู้ป่วยที่มีรอยโรคหรือมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ติดตัว ผู้ป่วยที่กลับมารักษาซ้ำ มีปัญหาการเคลื่อนย้าย มีโอกาสฟื้นฟูและมีที่อยู่อาศัยในเขตรับผิดชอบและติดตามได้ ลักษณะของผู้ดูแลขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแล ไม่สนใจดูแลหรือไม่มีผู้ดูแล มีปัญหาสุขภาพหรือสูงอายุ ยินยอมให้ไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ผู้ดูแลที่มีความรักผูกพันและมีความหวังว่าผู้ป่วยจะดีขึ้น ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือมีปัญหาฐานะยากจนสำหรับการให้บริการ โดยส่งเสริมความรู้ ตรวจรักษาช่วยเหลือดูแล ช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ ให้กำลังใจ ผู้ให้บริการเป็นทีมสุขภาพมีความรู้ความสามารถและมีใจรักในการให้บริการค่าบริการฟรีช่วงเวลาให้บริการคือช่วงเช้าหรือช่วงเวลาที่ผู้ให้บริการว่างและมีการนัดหมายกันก่อน
อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ให้บริการบางส่วนไม่สนับสนุนการบริหารจัดการ ปัญหาด้านปัญหาและอุปสรรคในการให้บริการ โดยเฉพาะในด้านนโยบายการบริหารจัดการ ปัญหาด้านบุคลากร ปัญหาด้านงบประมาณ และปัญหาด้านชุมชน ผู้ให้บริการได้เสนอแนะแนวทางในการดำเนินงาน คือ 1) ผู้บริหารต้องให้การสนับสนุน 2) ให้บริการเป็นทีมสุขภาพ 3) จัดตั้งหน่วยงานดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน 4) ประสานงานกับศูนย์บริการสาธารณสุขและชุมชน 5) ผู้ให้บริการมีคุณสมบัติพร้อมในการให้บริการ 6) พัฒนาบุคลากรก่อนให้บริการ 7) ให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมและ 8) มีขั้นตอนการให้บริการและมีหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน
ข้อเสนอแนะในการประยุกต์ใช้ผลการวิจัยคือ ผู้บริหารควรให้การสนับสนุนด้านนโยบายให้มีการจัดตั้งหน่วยงานการบริการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านไว้ในโครงสร้างการบริหาร จัดทีมสุขภาพออกตรวจเยี่ยมที่บ้านเสมือนบ้านเป็นหอผู้ป่วย จัดตั้งสถานรับเลี้ยงผู้ป่วยแบบเช้าไปเย็นกลับ
|