การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายคุณภาพชีวิตของหัวหน้าหอผู้ป่วย ในโรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกของประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหอผู้ป่วยในกลุ่มงานต่าง ๆ ได้รับการคัดเลือกแบบเจาะจง จำนวน 15 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคล ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2550
ผลการศึกษาพบว่า หัวหน้าหอผู้ป่วยได้ให้ความหมายของคุณภาพชีวิต หมายถึง การดำรงชีวิตด้วยการมีสุขภาพดี ปราศจากโรค การมีจิตใจเป็นสุข สงบ ไม่ทุกข์และไม่เครียดการมีชีวิตราบรื่นอยู่ในสังคม การมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และการมีความเป็นอยู่ที่พอเพียงตามฐานะ
หัวหน้าหอผู้ป่วยกล่าวถึงสิ่งที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่เกิดจากการทำงาน ที่ส่งผลกระทบทางบวก ได้แก่ การมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน การมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ร่วมงาน การทำงานเป็นทีม และการมีเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการปฏิบัติงาน ส่วนสิ่งที่มีผลกระทบทางลบได้แก่การไม่ได้รับการเตรียมตัวเข้าสู่ตำแหน่ง บรรยากาศการทำงานไม่ดี ความเครียดจากการทำงาน ความเครียดกับการทำงานระบบประกันคุณภาพ การมีภาระงานมากขึ้น ความทุกข์กับลักษณะงานที่เปลี่ยนไป และคุณภาพบุคลากรไม่เป็นไปตามความคาดหวัง
สิ่งที่มีผลกระทบทางบวกต่อคุณภาพชีวิตของหัวหน้าหอผู้ป่วย คือ ครอบครัวที่มีความสุขและสิ่งที่มีผลกระทบทางลบ ได้แก่ ความเจ็บป่วย ปัญหาการบริหารเวลา และปัญหาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนแนวทางที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 9 ประการ คือการใช้หลักศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ความสามารถในการปรับตัวในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การเตรียมความพร้อมของที่อยู่อาศัยหลังเกษียณ การใช้เวลาว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สนใจ การคิดในมุมมองเชิงบวก การทำงานอย่างมีเป้าหมาย ใจที่สู้งานและมีความพอเพียง การมีที่ปรึกษา และความสุขในการเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น
การศึกษาวิจัยนี้ มีข้อเสนอแนะเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของหัวหน้าหอผู้ป่วยดีขึ้น ควรมีการฝึกอบรมหลักสูตรเฉพาะทางสำหรบผู้บริหารก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง จัดสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ทำงานที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงาน ส่งเสริมสัมพันธภาพภายทีม สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรในการทำงานมีการจัดภาะงานที่เหมาะสม และเสริมสร้างสมรรถนะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
|