การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาถึงภาวะสุขภาพ ความพึงพอใจในงานและความเครียดในงานของพยาบาลประจำการในโรงพยาบาลเขตภาคตะวันออก เปรียบเทียบความเครียดในงาน จำแนกตามสถานภาพสมรสและสังกัดโรงพยาบาล และหาความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ทำงาน ภาวะสขุภาพและความพึงพอใจในงานกับความเครียดในงานกลุ่มตัวอย่างคือ พยาบาลวิชาชีพที่ดำรงตำแหน่งพยาบาลประจำการในโรงพยาบาลที่มีขนาด 150 เตียงขึ้นไปในจังหวัดเขตตะวันออกจำนวน 420 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามเกี่ยวกับภาวะสุขภาพ ซึ่งแบบสอบถามมีค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ .87 แบบสอบถามเกี่ยวกับความพึงพอใจในงานของพยาบาลวิชาชีพ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามเท่ากับ 0.94 และแบบสอบถามความเครียด ในงาน มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามเท่ากับ .93 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์การทำงาน ภาวะสุขภาพและระดับความพึงพอใจในงานกับระดับความเครียด ในงานของพยาบาลประจำการ โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ความเครียดในงานของพยาบาลประจำการโรงพยาบาลเขตภาคตะวันออก โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง
2. ความพึงพอใจในงานของพยาบาลประจำการโรงพยาบาลเขตภาคตะวันออกโดยรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก
3. ภาวะสุขภาพโดยรวมของพยาบาลประจำการโรงพยาบาลเขตภาคตะวันออก อยู่ในระดับดีมาก
4. พยาบาลประจำการโรงพยาบาลเขตภาคตะวันออก ที่มีสถานภาพสมรสที่แตกต่างกันมีความเครียดไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ .05
5. พยาบาลประจำการโรงพยาบาลเขตภาคตะวันออก ที่ปฏิบัติงานในสังกัดที่แตกต่างกันมีความเครียดไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ .05
6. ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดในงานของพยาบาลประจำการโรงพยาบาลเขตภาคตะวันออกและระยเวลาที่ปฏิบัติงาน มีความสัมพันธ์ทางลบระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
7. ภาวะสุขภาพมีความสัมพันธ์ทางลงกับความเครียดในงานของพยาบาลวิชาชีพประจำการภาคตะวันออกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
8. ความพึงพอใจในงานมีความสัมพันธ์ทางลบกับความเครียดในงานของพยาบาลวิชาชีพประจำการภาคตะวันออกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
|