การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออก กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค เจ้าหน้าที่พยาบาล และพนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้ จำนวน 786 คน โดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป ประสบการณ์การสัมผัสสิ่งก่อให้เกิดความเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงาน การจัดการสิ่งแวดล้อมในการทำงานและการเกิดความเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงาน ทดสอบความเชื่อมั่นด้วยการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคของแบบสอบถามการจัดการสิ่งแวดล้อมในการทำงาน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .90 วิเคราะห์ข้อมูลสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Kruskal – Wallis H Test และ เปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่โดย Mann – Whitney U Test ผลการวิจัยพบว่า
1. พยาบาลวิชาชีพ และพนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้มีอาการปวดเอว / ปวดหลังมากที่สุด ส่วนพยาบาลเทคนิคและเจ้าหน้าที่พยาบาลมีอาการปวดข้อ / กล้ามเนื้อมากที่สุด
2. ปัจจัยสนับสนุนการเกิดความเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงาน คือ การยกผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมาก การไม่คำนึงถึงท่าทางที่ถูกต้องขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ขาดคนช่วยเวลาเคลื่อนย้าย และการไม่ใส่อุปกรร์ป้องกันขณะดูแลผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
3. การจัดการสิ่งแวดล้อมในการทำงานโดยรวมอยู่ในระดับดี
4. ผลกระทบของการเกิดความเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงาน คือ ความเครียดและวิตกกังวล ขาดงาน และเกิดโรคประจำตัว
5. กลุ่มตัวอย่างที่มีความแตกต่างกันในด้านอายุ วิถีชีวิต แผนกที่ปฏิบัติงาน ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ ประสบการณ์การสัมผัสสิ่งก่อให้เกิดความเจ็บป่วย และการจัดการสิ่งแวดล้อมในกาทำงาน เกิดความเจ็บป่วยจาการปฏิบัติงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
6. ปัญหาและอุปสรรคในการรายงานอุบัติการณ์ที่สำคัญ คือ ไม่มีเวลาบันทึกรายงานและใช้เวลามากในการบันทึกแบบฟอร์มรายงานอุบัติการณ์
|