การศึกษาเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานของบุคลากรพยาบาล
เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานการปรับปรุงบทบาทหน้าที่ของบุคลากรพยาบาล
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานของบุคลากรพยาบาลในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลโดยตรง
การปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลที่นอกเหนือกิจกรรมการพยาบาลโดยตรง การปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลผู้ป่วยรับใหม่
และสัดส่วนปริมาณงานทั้งหมดในแต่ละเวร
ประชากรที่ศึกษาเป็นบุคลากรพยาบาลทุกระดับที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิงจำนวน
23 คน กลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 30 ราย ผู้ป่วยรับใหม่จำนวน 12 ราย
เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม 2549
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วยคู่มือและแบบบันทึกกิจกรรมการพยาบาลโดยตรง
คู่มือและแบบบันทึกเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลที่นอกเหนือกิจกรรมการพยาบาลโดยตรงได้ค่าความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ
1 และ 0.98 และค่าความเที่ยงของการจำแนกประเภทผู้ป่วย เท่ากับ 1
ค่าความเที่ยงของการสังเกตขั้นตอนการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลแต่ละกิจกรรมเท่ากับ
0.95 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1.
เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลโดยตรงของบุคลากรพยาบาลในผู้ป่วยแตะประเภทดังนี้
ผู้ป่วยประเภทที่ 1 ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะอันตราย เท่ากับ 4.48 ชั่วโมง
ผู้ป่วยประเภทที่ 2 ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะกึ่งอันตรายเท่ากับ 1.22 ชั่วโมง
ผู้ป่วยประเภทที่ 3 ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยไม่รุนแรง เท่ากับ 0.68 ชั่วโมง
และผู้ป่วยประเภทที่ 4 ผู้ป่วยพักฟื้น เท่ากับ 0.67 ชั่วโมง
2.
เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาล โดยตรงของบุคลากรพยาบาลใน 24 ชั่วโมง
ทั้งหมด เท่ากับ 49.40 ชั่วโมง เวรเช้าเท่ากับ 17.76 ชั่วโมง เวรบ่าย เท่ากับ
16.84 ชั่วโมง และเวรดึกเท่ากับ 14.80 ชั่วโมง
3. เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลที่นอกเหนือจากกิจกรรมการพยาบาลโดยตรงของบุคลากรพยาบาล
ทั้งหมดเท่ากับ 79.63 ชั่วโมง เวรเช้าเท่ากับ 42.84 ชั่วโมง เวรบ่ายเท่ากับ 19.67
ชั่วโมง และเวรดึก เท่ากับ 17.12 ชั่วโมง
4.
เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลของบุคลากรพยาบาลผู้ป่วยรับใหม่ทั้งหมด
เท่ากับ 2.41 ชั่วโมง
เวรเช้าและเวรบ่ายเท่ากับ 0.88 ชั่วโมง เวรดึก เท่ากับ 0.62 ชั่วโมง
5.
สัดส่วนปริมาณงานทั้งหมดในเวรเช้า : เวรบ่าย :
เวรดึก เท่ากับ 46.96 : 28.30 : 27.74
ผลการศึกษานี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลการจัดสรรบุคลการพยาบาลให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพและบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และปรับปรุงระบบการจำแนกประเภทผู้ป่วย
|