สมรรถนะของอาจารย์พยาบาลเป็นความสามารถของบุคคลในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจ
5 ประการ คือ การสอน การพัฒนาบุคลากรทางการพยาบาล การวิจัย
การบริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ในการจัดการศึกษาทางการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยอาจารย์พยาบาลที่มีสมรรถนะในระดับที่ยอมรับได้
การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงพรรณนามีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินระดับสมรรถนะของอาจารย์พยาบาลในวิทยาลัยพยาบาล
สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
และสำรวจกิจกรรมการพัฒนาสมรรถนะและปัจจัยเอื้อ-อุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมรรถนะของคณาจารย์กลุ่มนี้
ประชากรเป็นอาจารย์พยาบาลในวิทยาลัยพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ จำนวน
985 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม ส่วนบุคคล
แบบวัดสมรรถนะของอาจารย์พยาบาล แบบสอบถามกิจกรรมการพัฒนาสมรรถนะของอาจารย์พยาบาล
และแบบสอบถามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมรรถนะของอาจารย์พยาบาล
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา
ผลการวิจัย แสดงว่า
ค่าคะแนนเฉลี่ยสมรรถนะของประชากรที่ศึกษา โดยรวมและรายด้านคือ ด้านการสอน
ด้านการพัฒนาบุคลากรทางการพยาบาล ด้านการวิจัย ด้านการบริการทางวิชาการแก่สังคม
และด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอยู่ในระดับมาก
กิจกรรมการพัฒนาสมรรถนะที่ถูกระบุจำนวนมากที่สุดมีดังนี้ ด้านการสอน
ได้แก่การได้รับโอกาสศึกษาต่อ ด้านการพัฒนาบุคลากรทางการพยาบาลได้แก่
การสนับสนุนการค้นคว้าด้วยตนเองในเรื่องการให้ควมรู้ด้านการวิจัยได้แก่
การจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการวิจัย
ด้านการบริการทางวิชาการแก่สังคมได้แก่ การเป็นผู้จัดโครงการสนับสนุนการให้ความรู้แก่ชุมชนและสังคม
และด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมได้แก่ การมีส่วนร่วมในชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณีภายในหน่วยงาน
ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาสมรรถนะของอาจารย์พยาบาล ได้แก่
การมีประสบการณ์เหมาะสมที่ตามเกณฑ์ที่จะได้รับการพัฒนา นโยบายและแผนของหน่วยงานด้านการพัฒนาบุคลากทั้งระยะสั้นและระยะยาว
การมีเครื่องมือคอมพิวเตอร์
และสื่ออิเลคโทรนิกส์ที่ทันสมัยและการมีงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาผลงานวิจัยเพียงพอ
ในหน่วยงาน ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาสมรรถนะได้แก่
วัยวุฒิอยู่ในช่วงที่ไม่เหมาะสม นโยบายการพัฒนาบุคลากรที่ไม่ชัดเจน
การมีเครื่องคอมพิวเตอร์และ สื่ออิเลคโทรนิกส์ที่ล้าสมัยและไม่สะดวกต่อการใช้
และความไม่พอเพียงของค่าตอบแทนทีได้รับ
ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการประเมินสมรรถนะของอาจารย์พยาบาล
และเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาสมรรถนะของอาจารย์พยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต่อไปในอนาคต
|