การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตการทำงานของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวอย่างคือพยาบาลประจำการที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป 11 แผนการพยาบาล จำนวน 220 คน สุ่มตัวอย่างแบบง่ายโดยใช้ตารางเลขสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองและปรับมาจากแบบสอบถามของผาณิต สกุลวัฒนะ (2537) และอรพิน ตันติมูรธา (2538) แบบสอบถามประกอบด้วย 3 ส่วน คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามปัจจัยด้านองค์การ และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตการทำงาน ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และหาความเที่ยงโดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคได้เท่ากับ 0.95 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (SPSS/FW) โดยการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์องค์ประกอบ (factor analysis) และการถดถอยพหุคูณ (multiple regression)
ผลการวิจัยพบว่า
ปัจจัยส่วนบุคคลซึ่งประกอบด้วยรายได้ และค่านิยม 3 ด้าน คือ ค่านิยมทางวิชาชีพ ค่านิยมทางบริการ และค่านิยมทางราชการ ไม่มีความสัมพันธ์ต่อคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ปัจจัยด้านองค์การหรือปัจจัยการบริหารในหน่วยงาน ซึ่งประกอบไปด้วยสภาพแวดล้อมในการทำงาน การบริหารจัดการ การสนับสนุนให้ศึกษาต่อ การรับรู้ต่อความสามารถเชิงวิชาชีพของตน และการรับรู้ต่อระบบบริหาร มีความสัมพันธ์เชิงเส้นตรงกับคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ P < .05 และมีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ P < .05 มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.74 และสามารถทำนายคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ร้อยละ 55
|