การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive research) มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาคุณภาพบริการพยาบาลตามความคาดหวังและการรับรู้ของผู้รับบริการ งานผู้ป่วยในโรงพยาบาลนาแห้ว จังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม 2545 – 28 กันยายน 2545 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลที่งานผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาลนาแห้ว จังหวัดเลย จำนวน 140 คน กลุ่มตัวอย่างที่ได้มาโดยวิธีการเจาะจง (Purposive) ตามคุณลักษณะของประชากรที่กำหนดไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถามดัดแปลงมาจากเครื่องมือวัดคุณภาพบริการ SERVQUAL ที่พัฒนามาโดย Parasuraman และคณะ ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดคุณภาพบริการพยาบาลที่มีความเป็นรูปธรรม สามารถใช้วัดคุณภาพบริการพยาบาลตามความคาดหวังและการรับรู้ของผู้ป่วยได้ แบบสอบถามได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน และหาค่าความเที่ยงของแบบสอบถามในส่วนของความคาดหวังและการรับรู้โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงเท่ากับ 0.97 และ 0.96 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS 7.5 for windows หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบทีแบบจับคู่ (Paired t – test)
ผลการวิจัยพบว่า
คุณภาพการบริการพยาบาลตามความคาดหวังของผู้รับบริการงานผู้ป่วยใน โรงพยาบาลนาแห้ว จังหวัดเลย อยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งโดยรวมและรายด้าน ส่วนรายข้ออยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
1. คุณภาพบริการพยาบาลตามการรับรู้ของผู้รับบริการงานผู้ป่วยใน โรงพยาบาลนาแห้ว จังหวัดเลย อยู่ในระดับมากทั้งโดยรวมและรายด้าน ส่วนรายข้อ อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
2. คุณภาพบริการพยาบาลตามความคาดหวังและการรับรู้ของผู้รับบริการงานผู้ป่วยใน โรงพยาบาลนาแห้ว จังหวัดเลย มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยค่าเฉลี่ยความคาดหวังสูงกว่าค่าเฉลี่ยการรับรู้ ทั้งโดยรวม รายด้าน และรายข้อ
จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยมีความคาดหวังต่อคุณภาพบริการพยาบาลมากกว่าที่รับรู้ ดังนั้นผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรมีการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล เพื่อให้บริการพยาบาลที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้ อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจ และประทับใจในคุณภาพบริการพยาบาลต่อไป
|