รายละเอียดข้อมูลวิจัย

ลำดับที่ 4568
ผู้กรอกข้อมูล อรอนงค์ วิชัยคำ
วันที่กรอกข้อมูล 5/10/2553
ชื่อเรื่องไทย คุณภาพบริการพยาบาลตามความคาดหวังและการรับรู้ของผู้รับบริการภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมา
ชื่อเรื่องอังกฤษ Nursing service quality as expected and perceived by patients in universal health coverage program of community Hospitals, Nakorn Ratchasima province
ชื่อผู้วิจัยหลัก ผกามาศ คงวิชา
   
ชื่อผู้วิจัยร่วม
ผู้ร่วมวิจัย
วิภาพร วรหาญ
บุศรา กาญจนบัตร
วรรณชนก จันทชุม
สังกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น
   
แหล่งทุน
ไม่พบข้อมูล
   
ประเภทของผลงาน วิทยานิพนธ์
แหล่งที่เก็บ
แหล่งที่เก็บข้อมูลโปรดระบุ(ชื่อ)
มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
   
ปี 2546
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับคุณภาพบริการพยาบาลตามความคาดหวังและการรับรู้ และเปรียบเทียบความคาดหวังคุณภาพบริการพยาบาลกับการรับรู้คุณภาพบริการพยาบาลของผู้รับบริการภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมา กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือ ผู้รับบริการภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 440 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามคุณภาพบริการพยาบาลตามความคาดหวังและการรับรู้ของผู้รับบริการภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมา สร้างขึ้นโดยผู้วิจัยตามกรอบแนวคิดคุณภาพบริการตามนโยบายโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมกับแนวคิดการวัดคุณภาพบริการ SERVQUAL ของ Parasuraman et al. (1990) ที่พัฒนาโดย Scardina (1994) ตรวจสอบความเที่ยงตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 7 ท่าน และหาค่าความเที่ยงของแบบสอบถามโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.97 และ 0.97 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบทีแบบจับคู่

 

ผลการวิจัยพบว่า

1.       ความคาดหวังคุณภาพบริการพยาบาลของผู้รับบริการภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งโดยรวมและรายด้านและพบว่าด้านการให้บริการที่มีการประกันคุณภาพมีค่าเฉลี่ยคะแนนความคาดหวังมากกว่าด้านอื่นๆ และเมื่อจำแนกเป็นรายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด

2.       การรับรู้คุณภาพบริการพยาบาลของผู้รับบริการภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในระดับมาก ทั้งโดยรวมและรายด้าน และพบว่าด้านการให้บริการที่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้รับบริการมีค่าเฉลี่ยคะแนนการรับรู้น้อยกว่าด้านอื่นๆและเมื่อจำแนกเป็นรายข้อพบว่าอยู่ในระดับปานกลางถึงมากที่สุด

3.       ความคาดหวังคุณภาพบริการพยาบาลและการรับรู้คุณภาพบริการพยาบาลของผู้รับบริการภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยค่าเฉลี่ยคะแนนความคาดหวังสูงกว่าค่าเฉลี่ยคะแนนการรับรู้ทั้งโดยรวมและรายด้าน และเมื่อจำแนกเป็นรายข้อพบว่ามีความคาดหวังสูงกว่าการรับรู้ทุกข้อ ซึ่งพบว่ามีเพียง 2 ข้อที่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คือ พยาบาลไม่ควรนำข้อมูลที่ท่านไม่ต้องการให้เปิดเผยไปพูดคุยกับผู้อื่น และพยาบาลให้การดูเอาใจใส่ท่านอย่างสม่ำเสมอ

 

ผลการวิจัยครั้งนี้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลให้เพิ่มมากขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะในข้อรายการคุณภาพบริการพยาบาลที่มีความแตกต่างกันมาก โดยจัดลำดับความสำคัญและพัฒนาคุณภาพตามที่ผู้รับบริการต้องการและคาดหวังรวมทั้งการนำกลยุทธ์การบริหารทางการพยาบาลมาใช้ให้เป็นรูปธรรม เช่น การพยาบาลแบบองค์รวมการจัดทีมผู้ให้บริการแบบสหสาขาวิชาชีพ การวิจัยทางเลือกด้านสุขภาพ และการนำงานวิจัยต่างๆมาใช้ เพื่อสะท้อนถึงบริการพยาบาลที่มีคุณภาพสามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้รับบริการได้อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจและประทับใจในคุณภาพบริการพยาบาลต่อไป

 

 

 

 

URL
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับคุณภาพบริการพยาบาลตามความคาดหวังและการรับรู้ และเปรียบเทียบความคาดหวังคุณภาพบริการพยาบาลกับการรับรู้คุณภาพบริการพยาบาลของผู้รับบริการภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมา
 
    พิมพ์หน้านี้