การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย
มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ในหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของหัวหน้าหอผู้ป่วยและพยาบาลประจำการ
โรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช
โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ กลุ่มตัวอย่างเป็นหัวหน้าหอผู้ป่วยและพยาบาลประจำการ
ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป จำนวน 477
คน ประกอบด้วยหัวหน้าหอผู้ป่วย 176 คน
และพยาบาลประจำการ 301 คน
ทุกแผนกการพยาบาลยกเว้นแผนกการพยาบาลผู้ป่วยนอกและห้องผ่าตัด
โดยใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิตามสัดส่วนประชากรในแต่ละโรงพยาบาล
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามบรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ในหอผู้ป่วยที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน
9 ท่าน
ตรวจสอบความเที่ยงของแบบสอบถามโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค
ได้ค่าความเที่ยง 0.95 เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม –
พฤศจิกายน 2543 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
SPSS for windows หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าพิสัยควอไทล์ และสถิติการทดสอบค่าทีแบบอิสระ
ผลการศึกษาพบว่า
1.
บรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ในหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของหัวหน้าหอผู้ป่วยโรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย
โดยรวมและรายด้าน อยู่ในระดับสูง
2.
บรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ในหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของพยาบาลประจำการโรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย
โดยรวมอยู่ในระดับสูง หากพิจารณารายด้านพบว่าบรรยากาศด้านอิสระ
บรรยากาศด้านความไว้วางใจ และบรรยากาศด้านพลวัต อยู่ในระดับสูง
ส่วนบรรยากาศด้านท้าทายและบรรยากาศด้านยอมรับความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง
3.
เปรียบเทียบบรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ในหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของหัวหน้าหอผู้ป่วยและพยาบาลประจำการ
โรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (tdf465.62 = 9.50 , p < .001) โดยค่าเฉลี่ยคะแนนการรับรู้ของหัวหน้าหอผู้ป่วยสูงกว่าพยาบาลประจำการทั้งโดยรวมและรายด้าน
จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าพยาบาลประจำการซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย
มีการรับรู้บรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ในหอผู้ป่วยต่ำกว่าหัวหน้าหอผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้บริหารที่ใกล้ชิดผู้ปฏิบัติ
ดังนั้นผู้บริหารทุกระดับควรได้พิจารณาส่งเสริมและสนับสนุนบรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ด้านต่างๆ
ในหอผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเพื่อให้ทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติมีการรับรู้ที่สอดคล้องกัน
ส่งผลให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงาน รวมทั้งผู้ปฏิบัติควรมีการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างบรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ในหน่วยงานอันเป็นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตน
และพัฒนาองค์การให้มีความก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป
|