รายละเอียดข้อมูลวิจัย

ลำดับที่ 4577
ผู้กรอกข้อมูล อรอนงค์ วิชัยคำ
วันที่กรอกข้อมูล 5/10/2553
ชื่อเรื่องไทย ประสิทธิผลของการบันทึกโดยใช้แบบบันทึกการพยาบาลตามกระบวนการพยาบาลสำหรับผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินในโรงพยาบาลสุรินทร์
ชื่อเรื่องอังกฤษ The effectiveness of Recording by Using Nursing Process Accident and Emergency – patient Nurse Note in Surin Hospital
ชื่อผู้วิจัยหลัก วัชชรีภรณ์ รัตรสาร
   
ชื่อผู้วิจัยร่วม
ผู้ร่วมวิจัย
เพ็ญศรี ชุนใช้
ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ
สังกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น
   
แหล่งทุน
ไม่พบข้อมูล
   
ประเภทของผลงาน วิทยานิพนธ์
แหล่งที่เก็บ
แหล่งที่เก็บข้อมูลโปรดระบุ(ชื่อ)
มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
   
ปี 2543
บทคัดย่อ  

การวิจัยครั้งนี้เป็นแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการบันทึกโดยใช้แบบบันทึกการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลสุรินทร์ ซึ่งประเมินจากคุณภาพการบันทึก และความสะดวกในการใช้แบบบันทึก กลุ่มประชากรมี 2 ประเภทคือ 1) แบบบันทึกการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุ และฉุกเฉิน โรงพยาบาลสุรินทร์ โดยบันทึกเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินมากและผู้ป่วยฉุกเฉิน จำนวน 81 ฉบับ เพื่อตรวจสอบคุณภาพการบันทึกการพยาบาลในเรื่องความถูกต้อง ความครบถ้วน ความชัดเจน และความต่อเนื่อง  2) พยาบาลวิชาชีพงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลสุรินทร์ จำนวน 11 คน เพื่อประเมินความสะดวกในการใช้แบบบันทึก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1) สิ่งทดลอง ได้แก่ แบบบันทึกการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุ และฉุกเฉิน โรงพยาบาลสุรินทร์ ซึ่งผู้วิจัยได้สร้างขึ้นตามแนวคิดของ Fischbach และกองการพยาบาล  2) แบบวัดประสิทธิผล ได้แก่ 2.1) แบบตรวจสอบคุณภาพการบันทึกการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลสุรินทร์ ซึ่งผู้วิจัยดัดแปลงมาจากแบบตรวจสอบคุณภาพการบันทึกทางการพยาบาลของกองการพยาบาล ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ 7 ท่าน และตรวจสอบความเที่ยงโดยคำนวณหาดัชนีความสอดคล้องตามสูตรของ Scott ได้ค่าความเที่ยง 0.94  2.2) การสัมภาษณ์รายบุคคล เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับความสะดวกในการใช้แบบบันทึก ผู้วิจัยเป็นผู้สัมภาษณ์ โดยใช้แบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยกำหนดหัวข้อไว้เป็นแนวทางในการสัมภาษณ์ และบันทึกร่วมกับการบันทึกเทป ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย และรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1) การเตรียมการทดลองโดยจัดทำคู่มือการบันทึก ให้ความรู้ผู้บันทึกและฝึกปฏิบัติการบันทึกตั้งแต่วันที่ 16 – 31 กรกฎาคม 2543   2) การดำเนินการทดลองและรวบรวมข้อมูล โดยรวบรวมแบบบันทึกการพยาบาลที่บันทึกแล้วตั้งแต่วันที่ 1 – 15 สิงหาคม 2543  3) การประเมินผล โดยตรวจให้คะแนนคุณภาพการบันทึกและสัมภาษณ์รายบุคคลหลังจากรวบรวมแบบบันทึก 1 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพการบันทึกโดยใช้โปรแกรม SPSS for windows อธิบายข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ และระดับ วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความสะดวกในการใช้แบบบันทึก โดยการตีความข้อมูลจากถ้อยคำ ประโยค หรือใจความที่แจงนับได้จากการสัมภาษณ์ เป็นการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) และอธิบายข้อมูลด้วยจำนวนและร้อยละ

 

ผลการวิจัยพบว่า

1.       คุณภาพการบันทึกการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุ และฉุกเฉิน อยู่ในระดับดี ร้อยละ 84.4 เมื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกระบวนการบันทึก การบันทึกข้อมูลทั่วไป การบันทึกการประเมินอาการ การบันทึกการวินิจฉัยการพยาบาล และการบันทึกกิจกรรมการพยาบาล อยู่ในระดับดี ร้อยละ 89.6 , 82.6 , 84.4 และ 89.8 ตามลำดับ การบันทึกการประเมินผลอยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 92.2 การบันทึกการรวบรวมข้อมูลเมื่อแรกรับและการบันทึกสรุปการจำหน่ายผู้ป่วย อยู่ในระดับพอใช้ ร้อยละ 76.9 และ 79.2 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพการบันทึกด้านความถูกต้อง ความชัดเจน และความต่อเนื่องอยู่ในระดับดี ร้อยละ 87.5 , 88.8 และ 86 ตามลำดับ ส่วนความครบถ้วนอยู่ในระดับพอใช้ ร้อยละ 75.8

2.       ความสะดวกในการใช้แบบบันทึก ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าโครงสร้างของแบบบันทึกมีความเหมาะสมในเรื่องความครบถ้วนของเนื้อหา การจัดเรียงเนื้อหาตามลำดับก่อน – หลัง ร้อยละ 100 เท่ากัน ขนาดของแบบบันทึกเหมาะสม และเนื้อที่ว่างไว้ให้บันทึกเหมาะสม ร้อยละ 81.8 เท่ากัน ส่วนขนาดตัวอักษรมีความเห็นว่าเหมาะสมร้อยละ 45.5 ไม่เหมาะสมร้อยละ 54.5 และพบว่าความครบถ้วนของเนื้อหา และการจัดเรียงเนื้อหาตามลำดับก่อน – หลัง ทำให้ง่ายต่อการบันทึกร้อยละ 90.9 และ 100 ตามลำดับ สิ่งที่ทำให้สะดวกต่อการบันทึกคือ คู่มือการบันทึกร้อยละ 90.9 และมีปัจจัยอื่นๆที่มีส่วนสนับสนุนการบันทึกเช่น อัตรากำลังที่เพียงพอ ระบบงานและประสิทธิภาพของบุคลากร

 

จากผลการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยเสนอแนะให้มีการสนับสนุนการบันทึกการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุ และฉุกเฉิน อย่างจริงจังทั้งระดับผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติ โดยมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จัดอัตรากำลังให้เหมาะสมกับปริมาณงานของแต่ละหน่วยงาน จัดระบบนิเทศการบันทึกสนับสนุนให้มีการพัฒนาการบันทึกอย่างต่อเนื่อง พัฒนาบุคลากรด้านความรู้ และเทคโนโลยี ให้มีการทำงานเป็นทีม และพร้อมที่จะพัฒนาการบันทึกการพยาบาลในบริบทที่เป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย และวิชาชีพในอนาคต

URL
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการบันทึกโดยใช้แบบบันทึกการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลสุรินทร์ ซึ่งประเมินจากคุณภาพการบันทึก และความสะดวกในการใช้แบบบันทึก
 
    พิมพ์หน้านี้