ความเป็นมา : ผู้ป่วยอุบัติเหตุที่เข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดใส่โลหะแบบกว้างดามกระดูกต้นขา (broad-DCP) ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ ซึ่งเป็นวัยที่ยังมีพละกำลังและหายจากการบาดเจ็บได้เร็ว ผู้ป่วยเหล่านี้มักไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับหลังผ่าตัด รีบลงน้ำหนักหรือปฏิบัติภารกิจจนกระดูกหักซ้ำ ทำให้โลหะที่ดามไว้หักตาม ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดซ้ำอีก ทำให้โรงพยาบาลต้องสูญเสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็น
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยใส่โลหะแบบกว้างดามกระดูกต้นขา
สถานที่ศึกษา : โรงพยาบาลลำพูน
วิธีการศึกษา : รูปแบบการศึกษาเป็นแบบติดตาม กลุ่มศึกษาเป็นผู้ป่วยที่มีกระดูกต้นขาหักและได้รับการวางแผนการจำหน่ายแบบ D-method 25 ราย ผู้ป่วยกลุ่มอ้างอิงได้รับการวางแผนการจำหน่ายแบบเดิมในช่วงก่อนใช้แผนการจำหน่ายแบบ D-method 25 ราย ติดตามการหักซ้ำเป็นเวลา 3 เดือน
ผลการศึกษา : ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาย อายุระหว่าง 15-30 ปี กระดูกต้นขาหักจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ลักษณะการหักของกระดูกเป็นแบบ transverse fracture ไม่มีบาดแผลและไม่มีกระดูกส่วนอื่นหักร่วมด้วย ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มได้รับการรักษาและอุปกรณ์ไม่แตกต่างกัน ระยะเวลาที่ใช้ไม้ค้ำยันและระยะเวลาที่ทำกายภาพบำบัดของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน ผู้ป่วยกลุ่มศึกษารับรู้เรื่องการลงน้ำหนักและได้รับคำอธิบายทุกขั้นตอนมากกว่ากลุ่มอ้างอิง (p < 0.001) กลุ่มศึกษาไม่มีกระดูกหักซ้ำ แต่พบร้อยละ 24.0 ในกลุ่มอ้างอิง (p = 0.022)
สรุป : กลุ่มศึกษาที่ได้รับการวางแผนการจำหน่ายแบบ D-method รับรู้เรื่องระยะเวลาที่ควรลงน้ำหนักดีกว่า มาตรวจตามนัดทุกครั้ง และยังไม่มีการหักซ้ำใน 3 เดือนแรก
เพื่อศึกษาผลของการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยใส่โลหะแบบกว้างดามกระดูกต้นขา
Contact Us | Terms of Use | Trademarks | Privacy Statement Copyright © 2009 ---. All Rights Reserved.
Web Template created with Artisteer.