การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเสริมสร้างพลังอำนาจกับความเหนื่อยหน่ายของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลทั่วไป ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 184 คน เลือกตัวอย่างแบบการสุ่มเป็นสัดส่วนตามชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามการเสริมสร้างพลังอำนาจของ Laschinger (1994) และแบบสอบถามความเหนื่อยหน่ายของ Maslach & Jackson (1986) ซึ่งผู้วิจัยได้แปลแบบสอบถามทั้ง 2 ส่วนนี้ด้วยตัวเอง แล้วนำไปตรวจสอบความตรงโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน หาความเที่ยงของเครื่องมือด้วยการใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาซ (Cronbach’s Alpha Coefficient) ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงของเครื่องมือการเสริมสร้างพลังอำนาจความเหนื่อยหน่ายที่แสดงออกทางด้านความรู้สึกอ่อนล้าทางอารมณ์ ด้านการคำนึงถึงความเป็นบุคคลของตนเองและผู้อื่นลดลง และด้านความรู้สึกประสบผลสำเร็จส่วนบุคคล เท่ากับ 0.94 0.94 0.80 และ 0.75 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่าการเสริมสร้างพลังอำนาจโดยรวมของพยาบาลวิชาชีพที่แสดงออกทางความรู้สึกอ่อนล้าทางอารมณ์อยู่ในระดับปานกลาง ที่แสดงออกทางการคำนึงถึงความเป็นบุคคลของตนเองและผู้อื่นลดลง อยู่ในระดับต่ำ และที่อสดงออกทางความรู้สึกประสบผลสำเร็จส่วนบุคคล อยู่ในระดับสูง การเสริมสร้างพลังอำนาจมีความสัมพันธ์ทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับความรู้สึกอ่อนล้าทางอารมณ์และมีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับความรู้สึกประสบผลสำเร็จส่วนบุคคล แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับการคำนึงถึงความเป็นบุคคลของตนเองและผู้อื่นลดลง
ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้คือ ผู้บริหารพยาบาลควรแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนการบริหารงานเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจแก่พยาบาลวิชาชีพ
|