บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบสมรรถนะของพยาบาลประจำการห้องผ่าตัด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยตามการรับรู้ของพยาบาลผู้เชี่ยวชาญและพยาบาลประจำการโดยการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 910 คน เป็นพยาบาลประจำการ 292 คน พยาบาลผู้เชี่ยวชาญจำนวน 618 คน จากห้องผ่าตัดโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา(ม.ศ.ว ) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มี 2 ส่วน ส่วนแรกแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนที่สองแบบสอบถามสมรรถนะของพยาบาลประจำการห้องผ่าตัดตามการรับรู้ของพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ และพยาบาลประจำการโดยประกอบด้วยสมรรถนะ 12 ด้านได้แก่ 1)ด้านการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผ่าตัด 2)สมรรถนะด้านการติดต่อสื่อสาร 3)ด้านเทคนิคการพยาบาล 4)ด้านการนำกระบวนการพยาบาลมาใช้ในการพยาบาลผ่าตัด 5)ด้านการบริหารจัดการทั่วไป 6)ด้านการเตรียมผู้ป่วยผ่าตัด 7)ด้านจริยธรรมและการพิทักษ์สิทธิผู้ป่วย 8)ด้านการดูแลแผลผ่าตัด 9)ด้านการบริหารความเสี่ยง 10)ด้านการประกันคุณภาพการพยาบาล 11)ด้านการใช้เทคโนโลยี 12)ด้านการวิจัย แบบสอบถามผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน และหาความเที่ยงของแบบสอบถาม ด้วยการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงเท่ากับ 0.98 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามด้วยตนเองและทางไปรษณีย์ ได้แบบสอบถามกลับคืนมา 831 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 91.31 วิเคราะห์ ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที ผลการศึกษาพบว่า
1. สมรรถนะของพยาบาลประจำการห้องผ่าตัด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ตามการรับรู้ของพยาบาลผู้เชี่ยวชาญโดยรวมอยู่ในระดับสูง (X̅ = 3.77) และตามการรับรู้ของพยาบาลประจำการโดยอยู่ในระดับสูง (X̅ = 3.64) เมื่อแยกเป็นรายด้านพบว่าสมรรถนะด้านที่สูงสุด 3 อันดับแรกตามการรับรู้ของพยาบาลประจำห้องผ่าตัดและพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่สมรรถนะด้านเทคนิคการพยาบาล สมรรถนะด้านการดูแลแผลผ่าตัด และสมรรถนะด้านจริยธรรมและการพิทักษ์สิทธิผู้ป่วย ทั้งสองกลุ่มมีการรับรู้ต่อสมรรถนะในด้านที่ต่ำที่สุดได้แก่ สมรรถนะด้านการวิจัย
2. สมรรถนะของพยาบาลประจำการห้องผ่าตัด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ตามการับรู้ของพยาบาลผู้เชี่ยวชาญและพยาบาลประจำการ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p < 0.05 ) โดยค่าเฉลี่ยตามการรับรู้ของพยาบาลผู้เชี่ยวชาญสูงกว่าพยาบาลประจำการ
|