บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research) มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาลักษณะการให้ความช่วยเหลือของหัวหน้าหอผู้ป่วย โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามความคิดเห็นของพยาบาลประจำการ
ตัวอย่างประชากรเป็นพยาบาลประจำการ ที่ปฏิบัติงานหอผู้ป่วยใน (In-patient department) โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ตั้งแต่ 1 ปีขั้นไป เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified random sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิ (Stratum) ตามแผนกการพยาบาล ได้จำนวน 9 แผนกการพยาบาล ซึ่งได้แก่ 1) แผนกการพยาบาลสูติ-นรีเวชกรรม 2) แผนกการพยาบาลศัลยกรรม 3) แผนกการพยาบาลอายุรกรรม 4) แผนกการพยาบาลกุมารเวชกรรม 5) แผนกการพยาบาลบำบัดพิเศษ 6) แผนกการพยาบาลจักษุ โสดฯ 7) แผนกการพยาบาลผู้ป่วยระยะวิกฤต 8) แผนกการพยาบาลอุบัติเหตุฉุกเฉิน และ 9) แผนกการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษ สุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) จำนวน 250 คน แบบสอบถามที่ได้รับกลับคืนและภายหลังตรวจสอบความสมบูรณ์แล้ว คงเหลือพยาบาลตัวอย่าง จำนวน 210 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามลักษณะการให้ความช่วยเหลือของหัวหน้าหอผู้ป่วยตามความคิดเห็นของพยาบาลประจำการ ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการศึกษาเอกสาร ตำรา บทความและงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา และความเหมาะสมของภาษาที่ใช้ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 ท่าน และทดสอบหาความเที่ยงของแบบสอบถาม โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงของลักษณะการให้ความช่วยเหลือของหัวหน้าหอผู้ป่วย เท่ากับ .98 เมื่อพิจารณารายด้าน ได้แก่ ด้านการร่วมรู้สึก (Empathy) ด้านการแสดงออกอย่างอบอุ่น (Warmth) และด้านการมีความซื่อสัตย์และจริงใจ(Genuineness) ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง เท่ากับ .80, .97, .94 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS/FW หาค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และความแตกต่างค่าเฉลี่ยลักษณะการให้ความช่วยเหลือของหัวหน้าหอผู้ป่วยโดยรวมและรายด้าน จำแนกตามลักษณะทั่วไป ได้แก่ อายุ วุฒิการศึกษา ระยะเวลาปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศรีนครินทร์และแผนกการพยาบาล โดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way analysis of variance) และเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ ด้วยวิธีการของเชฟเฟ (Scheffe’s method) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95
ผลการวิจัยพบว่า
1) พยาบาลประจำการมีความคิดเห็นต่อลักษณะการให้ความช่วยเหลือ ของหัวหน้าหอผู้ป่วยอยู่ในระดับสูง และเมื่อพิจารณาตามรายด้าน ซึ่งได้แก่ ด้านการร่วมความรู้สึก(Empathy) ด้านการแสดงออกอย่างอบอุ่น(Warmth) และด้านการมีความซื่อสัตย์และจริงใจ(Genuineness) ทุกด้านอยู่ในระดับสูง
2) ความแตกต่างค่าเฉลี่ยลักษณะการให้ความช่วยเหลือของหัวหน้าหอผู้ป่วย จำแนกตามลักษณะทั่วไปของพยาบาลประจำการ พบว่า พยาบาลประจำการมีวุฒิการศึกษา ระยะเวลาการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และแผนกการพยาบาลที่ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อลักษณะการให้ความช่วยเหลือของหัวหน้าหอผู้ป่วยไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3) พยาบาลประจำการที่มีอายุต่างกัน มีความคิดเห็นต่อลักษณะการให้ความช่วยเหลือของหัวหน้าหอผู้ป่วยแตกต่างกัน โดยพยาบาลประจำการที่มีอายุน้อยกว่า 26 ปี มีค่าเฉลี่ยความคิดเป็นต่อลักษณะการให้ความช่วยเหลือของหัวหน้าหอผู้ป่วย มากกว่าพยาบาลประจำการที่มีอายุระหว่าง 26-30 ปี และอายุระหว่าง 36-40 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
|