บรรยากาศการเรียนรู้ขององค์กรเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการความรู้ในโรงพยาบาล การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบรรยากาศการเรียนรู้ขององค์กร การจัดการความรู้และหาความสัมพันธ์ระหว่างบรรยากาศการเรียนรู้ขององค์กรและการจัดการความรู้ ตามการรับรู้ของพยาบาลในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการจัดการความรู้ กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ปฎิบัติงานในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการจัดการความรู้ ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 432 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถามบรรยากาศการเรียนรู้ขององค์กร ที่ผู้วิจัยแปลมาจากเครื่องมือ Learning Climate Questionnaire (LCQ) ของ บาร์ทรัม, ฟอสเตอร์, ลินด์ลี่, บราวน์, และ นิกส์ซัน (Bartram, Foster, Lindley, Brown, & Nixon, 1993) และแบบสอบถามการจัดการความรู้ขององค์กร โดยใช้เครื่องมือ KMAT (Knowledge Management Assessment Tool) ที่ The American Productivity & Quality Center (APQC) และบริษัท Arthur Andersen ร่วมกันจัดทำขึ้น แปลโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยายและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจับพบว่า
1. บรรยากาศการเรียนรู้ขององค์กรตามการรับรู้ของพยาบาลในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ อยู่ในระดับดี
2. การจัดการความรู้ตามการรับรู้ของพยาบาลในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ อยู่ในระดับดี
3. บรรยากาศการเรียนรู้ขององค์กร มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับน้อยกับการจัดการความรู้ตามการรับรู้ของพยาบาลในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ภาคเหนือตอนล่าง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 ผู้บริหารโรงพยาบาลและผู้บริหารทางการพยาบาล สามารถใช้ผลจากการศึกษาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการหาแนวทางในการวางแผนปรับปรุง พัฒนาองค์กรให้มีบรรยากาศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้มีการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
|