ความตั้งใจลาออก เป็นการแสดงถึงความเป็นไปได้ที่จะออกจากงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ถ้าอัตราการลาออกของพยาบาลมีมากอาจทำให้เกิดการขาดแคลนอัตรากำลังได้ ส่งผลโดยตรงถึงคุณภาพบริการ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยคัดสรร ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยด้านการปฏิบัติงาน กับความตั้งใจลาออกของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ปัจจัยส่วนบุคคล ประกอบด้วย อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา และระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ส่วนปัจจัยด้านการปฏิบัติงาน ประกอบด้วยค่าตอบแทน/ ค่าจ้างและสวัสดิการ การนิเทศงาน ความสำเร็จในงาน การได้รับการยอมรับนับถือ ลักษณะงานที่ปฏิบัติ หน้าที่ความรับผิดชอบ โอกาสก้าวหน้าในงาน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยศึกษาในประชากรคือพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จำนวน 1,157 คน ระหว่างวันที่ 1 -31 กรกฎาคม 2549 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นแบบสอสบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามความตั้งใจลาออกและแบบสอบถามปัจจัยด้านการปฏิบัติงาน ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาของแบบสอถามความตั้งใจลาออก และแบบสอบถามปัจจัยด้านการปฏิบัติงาน เท่ากับ 1 และ .97 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .79 และ .84 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติไคสแควร์ และสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียรสัน
ผลการศึกษาพบว่า
1. ร้อยละ 56.3 ของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีความตั้งใจลาออก โดยส่วนใหญ่มีความตั้งใจลาออกอยู่ในระดับปานกลาง
2. ปัจจัยคัดสรรที่พบว่ามีความสัมพันธ์เชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับความตั้งใจลาออก ประกอบด้วย ค่าตอบแทน/ค่าจ้างและสวัสดิการ โอกาสก้าวหน้าในงาน ลักษณะงานที่ปฏิบัติ อายุ ระยะเวลาปฏิบัติงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การนิเทศงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน และการได้รับการยอมรับนับถือ ( r = .349, -.283, - .242, - .196 , -.196, -.184, -.177, -1.76, -.146 และ -.080 ตามลำดับ)
ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลนำเสนอในการบริหารทรัพยากรบุคคลของฝ่ายการพยาบาล เพื่อให้การส่งเสริม สนับสนุน และหาแนวทางในการตอบสนองความต้องการของผู้ปฏิบัติงาน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสุขในการทำงาน ลดความตั้งใจลาออกและการลาออกจริง
|