ความพึงพอใจในงาน มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคลากรในการทำงานที่ส่งผลถึงความสำเร็จของงานและองค์การ รวมทั้งความสุขของผู้ทำงานด้วย การศึกษาเชิงพรรณนาแบบหาความสัมพันธ์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจในงานของพยาบาลวิชาชีพและความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส ตำแหน่งในการปฎิบัติงาน แผนที่ปฏิบัติงาน ช่วงเวลาการปฎิบัติงาน กับความพึงพอใจในงานของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลพิจิตร ประชากรที่ศึกษาเป็นพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 289 คน โดยใช้แบบสอบถาม ความพึงพอใจในงานของพยาบาลของอัชรี จิตต์ภักดี (2536) ซึ่งปรับปรุงมาจากแบบสอบถาม ดัชนีความพึงพอใจในงานของแสตมป์สและพีคมอนท์ วิคเราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ด้วยสถิติบรรยาย ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
ผลการศึกษาพบว่า ความพึงพอใจในงานของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลพิจิตร โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (µ= 183.36 , σ= 22.95) เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่า พยาบาลวิชาชีพมีความพึงพอใจในงานด้านความเป็นอิสระ นโยบายขององค์กร การมีปฎิสัมพันธ์และสถานภาพวิชาชีพ อยู่ในระดับปานกลาง (µ= 35.45, 28.01 45.59 และ 35.38 ตามลำดับ) ความพึงพอใจในด้านค่าตอบแทนและเงื่อนไขของงานอยู่ในระดับต่ำ (µ= 18.59 และ 20.35 ตามลำดับ) อายุ สถานภาพสมรส และตำแหน่งในการปฎิบัติงาน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในงาน ( r =.41, .04, .24 ตามลำดับ) ระดับการศึกษา ช่วงเวลาในการปฎิบัติงาน มีความสัมพันธ์ทางลบกับความพึงพอใจในงาน ( r = - .05 และ -.25) และพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในแผนกที่ต่างกันมีความพึงพอใจในงานแตกต่างกัน ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางในการสร้างเสริมให้พยาบาลวิชาชีพเกิดความพึงพอใจในงานมากขึ้น
|