การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินความต้องการการพัฒนาอาจารย์ กลุ่มตัวอย่างมี 2 กลุ่ม คือ 1) ผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้ข้อมูลความรู้ ทักษะความสามารถ และคุณสมบัติที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา เพื่อปฏิบัติภารกิจตามบทบาทอาจารย์ระดับอุดมศึกษา จำนวน 9 คน กลุ่มให้ข้อมูลปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาอาจารย์ จำนวน 10 คน 2) อาจารย์ของวิทยาลัย จำนวน 30 แห่ง สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก จำนวน 1,027 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับความรู้ ทักษะความสามารถ และคุณสมบัติที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนา 2) แบบสอบถามความคิดเห็นอาจารย์เกี่ยวกับสภาพการพัฒนาอาจารย์ ความต้องการการพัฒนาตนเอง และปัจจัยที่เป็นอุปสรรคและเอื้อต่อการพัฒนาอาจารย์ แบบสอบถามเรื่องนี้หาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา (α = Coefficient) ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ .97 ในส่วนที่เป็นเรื่องปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาอาจารย์ และเท่ากับ .98 ในส่วนที่เป็นเรื่องปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอาจารย์ การเก็บข้อมูลโดยส่งแบบสอบถามไปให้อาจารย์ในวิทยาลัยทางไปรษณีย์ และคณะผู้วิจัยสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิด้วยตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย และความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิเคราะห์ข้อมูล สรุปได้ดังนี้
1. ในภาพรวม วิธีการพัฒนาที่อาจารย์ควรได้รับเพื่อปฏิบัติภารกิจหลัก (งานสอน) คือ การศึกษาต่อในประเทศ การฝึกอบรมโดยเฉพาะการฝึกอบรมระยะยาว วิธีการพัฒนาเพื่อปฏิบัติภารกิจรองโดยการให้ลงมือปฏิบัติงานนั้น ๆ โดยตรง ได้แก่ การทำวิจัย การเขียนตำราและบทความวิชาการ วิธีการพัฒนาเพื่อปฏิบัติงานเสริมและงานอื่น ๆ ใช้วิธีการศึกษาดูงานในประเทศ และการเยี่ยมชมสถานศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับงานนั้น ๆ โดยตรง ได้แก่ งานกรรมการ งานการให้บริการชุมชน งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม งานกิจการนักศึกษา รวมทั้งใช้วิธีการพัฒนาอื่น ๆ อีก เฉพาะวิธีการประชุมสัมมนาวิชาการและร่วมทำงานในรูปคณะกรรมการวิชาการควรใช้น้อยกว่าวิธีการอื่น ๆ
2. ความรู้ ทักษะความสามารถเพื่อปฏิบัติภารกิจหลัก (งานสอน) ภารกิจรอง งานเสริม และงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นความต้องการการพัฒนาที่อาจารย์ควรได้รับ ได้แก่ 1) ความรู้ทางวิชาชีพในสาขาวิชาที่สอน 2) แผนพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ 3) ความรู้ทางด้านการศึกษาที่มิใช่เรื่องการเรียนการสอนและวิธีการสอนทั่ว ๆ ไป 4) การสอน/วิธีการสอนที่ทำให้เกิด Critical thinking การสอนแบบ PBL 5) การใช้เครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีโดยใช้คอมพิวเตอร์ 6) ทักษะการนำความรู้ประสบการณ์จากการปฏิบัติงานในคลินิกมาใช้ในการสอน 7) เทคนิคการเป็นที่ปรึกษา การให้คำปรึกษาแนะนำ 8) วิธีการวิจัยแบบใหม่ ๆ การเขียนบทคัดย่อตีพิมพ์ในวารสารทั้งในและต่างประเทศ 9) การคิดวิเคราะห์เป็น 10) การเขียนตำรา บทความและเอกสารทางวิชาการ 11) การสื่อสาร การพูด การเขียน และการอ่านบทความวิเคราะห์วิจารณ์ 12) การใช้ภาษาอังกฤษ 13) ความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง วิทยาศาสตร์สุขภาพ 14) ความรู้และทักษะความสามารถในงานบริหาร 15) ความรูและทักษะความสามารถในงานธุรการ 16) ความรู้เฉพาะเรื่องในศาสตร์ของตนเองที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในคณะกรรมการ การบริการ/ธุรการที่นำใช้ในการประชุม บทบาทประธานและกรรมการที่เข้าประชุม 17) ความรู้และทักษะความสามารถในการพัฒนาบุคลากรในเรื่องการฝึกอบรม 18) การให้บริการชุมชนทั้งด้านการเป็นวิทยากรฝึกอบรมและการให้บริการสุขภาพในชุมชน
3. คุณสมบัติเพื่อปฏิบัติภารกิจตามบทบาทอาจารย์ระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นความต้องการพัฒนาที่อาจารย์ควรได้รับ ได้แก่ 1) คุณสมบัติการเป็นครู ทั้งเรื่องคุณลักษณะของอาจารย์ที่ดี คือ มีความรู้อย่างดีในวิชาชีพระดับปริญญาโทขึ้นไป ความรู้ในสาขาวิชาที่สอน เชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่ตนเองถนัดหรือสนใจ สร้าง/พัฒนาบุคลิกของอาจารย์ กระตือรือร้นศึกษาหาความรู้หรือพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ขยันและรักในการอ่าน-เขียน กล้าแสดงออกในเชิงความคิด มีวิสัยทัศน์ และมีคุณธรรมและจริยธรรม ได้แก่ ความอดทน เสียสละ มีธรรมะและสมาธิ ฯลฯ 2) คุณสมบัติการเป็นที่ปรึกษา 3) คุณสมบัติการเป็นวิทยากร 4) คุณสมบัติการเป็นผู้ให้บริการชุมชน 5) คุณสมบัติเป็นนักวิจัย 6) คุณสมบัติอื่น ๆ คือ มีความสามารถเชิงสากล ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทักษะการบริหารจัดการ การมีค่านิยมร่วมทางสังคม รับรู้และปฏิบัติตามสังกัด
4. ปัจจัยที่เอื้อและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอาจารย์ตามความคิดเห็นของอาจารย์ พบว่าอาจารย์มีความคิดเห็นในภาพรวมว่า ปัจจัยด้านโครงสร้างการบริหารองค์กร ด้านบุคคล ด้านสิ่งจูงใจ ด้านสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ และด้านสิ่งแวดล้อมด้านสังคม ถ้าจะเอื้อต่อการพัฒนาอาจารย์มาก และปัจจัยทุกด้านถ้าไม่มีจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอาจารย์ปานกลาง เฉพาะด้านบุคคลและด้านสิ่งแวดล้อมด้านสังคม ถ้ามีจะเป็นปัจจัยเอื้อ ตรงข้ามถ้าไม่มีจะเป็นปัจจัยอุปสรรคต่อการพัฒนาอาจารย์ด้วย ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาอาจารย์ตามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่าปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาอาจารย์ ได้แก่ 1) โครงสร้างการบริหารองค์กรที่จัดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาอาจารย์ อาจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ องค์กรประจำที่กำหนดในสายงานไว้ชัดเจน และองค์กรที่ไม่เป็นทางการ ทำในรูปคณะกรรมการเกิดขึ้นชั่วคราวหรือเป็นเฉพาะกิจ 2) ปัจจัยบุคคล ในเรื่องคุณลักษณะด้านประชากร 3) องค์ประกอบด้านสังคมและเศรษฐกิจ และองค์ประกอบด้านอารมณ์และจิตใจของบุคคล 4) สิ่งแวดล้อมภายในองค์การหรือสถาบันที่อาจารย์ปฏิบัติงานอยู่ และสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การ 5) สิ่งจูงใจ ทั้งที่เป็นวัตถุหรือเงิน และสิ่งจูงใจที่ไม่ใช่วัตถุหรือเงิน
|