บัณฑิตพยาบาลเป็นผลผลิตจากการจัดการศึกษา ของสถาบันการศึกษาต้องการทราบถึงคุณภาพของผลผลิต ก็ต้องมีการประเมินและติดตามผลสมรรถนะของผู้สำเร็จการศึกษา วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ปี พ.ศ. 2537 มาเป็นระยะเวลา 4 ปี และมีผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนี้เป็นรุ่นแรก จึงต้องการศึกษาถึงสมรรถนะเชิงวิชาชีพและลักษณะบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ของพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2542 กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 59 คน และผู้บังคับบัญชาขั้นต้นของผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 28 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. คะแนนสมรรถนะเชิงวิชาชีพรายด้านและโดยรวม ที่ประเมินโดยผู้สำเร็จการศึกษาสูงกว่าการประเมินโดยผู้บังคับบัญชา (ค่าเฉลี่ย = 102.5, SD = 10.7 และ ค่าเฉลี่ย = 98.4, SD = 10.47 ตามลำดับ)
2. คะแนนสมรรถนะเชิงวิชาชีพโดยรวม ที่ประเมินโดยผู้สำเร็จการศึกษาที่ปฏิบัติเน้นการรักษาพยาบาลสูงกว่าผู้สำเร็จการศึกษาที่ปฏิบัติงานเน้นการส่งเสริมสุขภาพ (ค่าเฉลี่ย = 101.43, SD = 5.90 และ ค่าเฉลี่ย = 95.86, SD = 10.43 ตามลำดับ) แต่คะแนนลักษณะบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ของผู้สำเร็จการศึกษาที่ปฏิบัติเน้นการส่งเสริมสุขภาพสูงกว่าผู้สำเร็จการศึกษาที่ปฏิบัติเน้นการรักษาพยาบาล (ค่าเฉลี่ย = 87.503, SD = 9.40 และ ค่าเฉลี่ย = 96.76, SD = 7.76 ตามลำดับ)
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษามีความสัมพันธ์ทางบวกกับสมรรถนะเชิงวิชาชีพ และบุคลิกภาพที่พึงประสงค์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .019, P < .05) และ (r = .009, P < .01 ตามลำดับ) คณะผู้วิจัยเสนอแนะให้ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ประยุกต์ผลการวิจัยมาใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล ประสานความร่วมมือระหว่างสถานบริการสุขภาพกับสถาบันการศึกษา สำหรับสถานบริการสุขภาพควรมีการกำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติการพยาบาล และจัดทำแผนพัฒนาศักยภาพเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพพยาบาลวิชาชีพต่อไป
|