คุณภาพการพยาบาลเป็นระดับของความเป็นเลิศในการให้การพยาบาล ซึ่งประเมินได้โดยใช้ตัวชี้วัดคุณภาพการพยาบาล การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพการพยาบาลในด้านอัตราส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อบุคลากรพยาบาลอื่น จำนวนชั่วโมงการพยาบาล การหกล้ม ลื่นล้มหรือ ตกเตียง ความพึงพอใจในงานของบุคลากรพยาบาล การติดเชื้อในโรงพยาบาลในระบบทางเดินปัสสาวะ การเกิดความไม่สมบูรณ์ของผิวหนัง/การเกิดแผลกดทับ ความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการสอนของเจ้าหน้าที่ ความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการจัดการกับความเจ็บปวด และความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการพยาบาลที่ได้รับ โดยใช้ตัวชี้วัดคุณภาพของวิภาดา คุณาวิกติกุลและคณะ (2543) ทำการศึกษาในหอผู้ป่วยสามัญของงานการพยาบาลผู้ป่วยอายุรศาสตร์ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จำนวน 6 หอผู้ป่วย ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม ถึง 15 กรกฎาคม 2545 รวบรวมข้อมูลจากผู้ให้บริการจำนวน 152 คน ผู้รับบริการจำนวน 593 คน และเอกสารรายงานทางการพยาบาลจำนวน 163 ชุด โดยการใช้แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และการสังเกต นำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การแจกแจงความถี่ ร้อยละ และอัตราส่วน
ผลการวิจัยพบว่า อัตราส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อบุคลากรพยาบาลระดับอื่นเป็น 1:1 ชั่วโมงการพยาบาล 4.0 ชั่วโมงต่อ 1 วันผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดความไม่สมบูรณ์ของผิวหนัง/การเกิดแผลกดทับ มีการปฏิบัติการพยาบาลและการบันทึกทางการพยาบาล ร้อยละ 98.0 ความพึงพอใจในงานของบุคลากรพยาบาลอยู่ในระดับควรปรับปรุง เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาลในระบบทางเดินปัสสาวะ ร้อยละ 1.19 และเกิดการหกล้ม ลื่นล้ม หรือตกเตียงร้อยละ 1.44 ความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการสอนอยู่ในระดับดี ความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการจัดการกับความเจ็บปวด อยู่ในระดับพอใช้ และความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการพยาบาลที่ได้รับอยู่ในระดับดี ผลการศึกษาครั้งนี้ใช้เป็นข้อมูลของงานบริการพยาบาล เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องต่อไป
|