การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความพึงพอใจในการปฏิบัติของพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดพิษณุโลก โดยจำแนกตามตัวแปร ตำแหน่ง ช่วงเวลาในการปฏิบัติงาน อายุ สถานภาพสมรส ประสบการณ์ในงาน และรายได้
กลุ่มตวอย่างได้แก่ พยาบาลวิชาชีพและพยาบาลเทคนิคที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งของจังหวัดพิษณุโลก ปี 254 จำนวน 257 คน ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบจัดชั้น ( Stratrified Random Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า ( Rating Scale) และข้อคำถามปลายเปิดที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ตามทฤษฎีสองปัจจัยของดฮอร์ซเบอร์ก ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .94 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานการทดสอบค่า ที การทดสอบค่า เอฟ และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญ (LSD)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน ปัจจัยจูงใจ และปัจจัยค้ำจุนของพยาบาล ในด้านความสำเร็จของงาน อยู่ในระดับสูง ส่วนด้านการยอมรับนับถือ ลักษณะงาน ความรับผิดชอบความก้าวหน้า นโยบายและการบริหารงาน การปกครองบังคับบัญชา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สภาพการทำงาน เงินเดือนและสวัสดิการ อยู่ในระดับปานกลาง
2. เปรียบเทียบความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของพยาบาลจำแนกตาม ช่วงเวลาในการปฏิบัติงาน อายุ ประสบการณ์ในงาน และรายได้ พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่พยาบาลที่มีตำแหน่งและสถานภาพสมรสต่างกัน พบว่ามีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
3. เปรียบเทียบความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของพยาบาลเป็นรายด้าน จำแนกตามตำแหน่ง ช่วงเวลาในการปฏิบัติงาน อายุ สถานภาพสมรส ประสบการณ์ในงาน และรายได้พบว่า
3.1 พยาบาลวิชาชีพมีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานสูงกว่ากว่าพยาบาลเทคนิค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในด้านความสำเร็จของงาน การยอมรับนับถือ เงินเดือนและสวัสดิการ
3.2 พยาบาลที่ปฏิบัติงานเฉพาะเวรเช้า มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานสูงกว่าพยาบาลที่ปฏิบัติงานหมุนเวียนเวรเช้า บ่าย ดึก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในด้านความสำเร็จของงาน การยอมรับนับถือ ความรับผิดชอบ ความก้าวหน้า นโยบายและการบริหารการปกครองบังคับบัญชา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สภาพการทำงาน และเงินเดือนและสวัสดิการ
3.3 พยาบาลที่มีอายุ 41 ปีขึ้นไป มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานสูงกว่าพยาบาลที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี 26 – 30 ปี 31 – 35 ปี และ 36 – 40 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในด้านความสำเร็จของงานการยอมรับนับถือ สภาพการทำงาน เงินเดือนและสวัสดิการ
3.4 ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของพยาบาลที่มีสถานภาพโสด มีคู่สมรส และหม้าย หย่า แยก มีความพึงพอใจแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.5 พยาบาลที่มีประสบการณ์ในงาน 16 ปีขึ้นไป มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานสูงกว่าพยาบาลที่มีประสบการณ์ในงานต่ำกว่า 5 ปี 6 – 10 ปี และ 11 – 15 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในด้านความสำเร็จของงาน นโยบายและการบริหาร เงินเดือนและสวัสดิการ
3.6 พยาบาลที่มีรายได้ 15,001 ขึ้นไป มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานสูงกว่าพยาบาลที่มีรายได้ 5,000 – 10,000 บาท และ 10,001 – 15,000 บาท อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในด้านความสำเร็จของงาน การยอมรับนับถือ เงินเดือนและสวัสดิการ
|