การบริหารการพยาบาลในหอผู้ป่วยมีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้เกิดคุณภาพงานบริการในระดับล่างสุด ของโรงพยาบาลศูนย์ การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ศึกษาการรับรู้การร่วมบริหารการพยาบาลในระดับหอผู้ป่วยของพยาบาลวิชาชีพ ในโรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งในเขตภาคเหนือ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10 คน ซึ่งปฏิบัติงานใน 2 หอผู้ป่วยในช่วงระยะเวลาที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารของโรงพยาบาล โดยมีการกระจายอำนาจลงสู่หอผู้ป่วย เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคล ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการวิเคราะห์ของโคไลซี่ ( Colaizzi) ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา เริ่มตั้งแต่ สิงหาคม 2547 ถึงมีนาคม 2548
ผลการวิจัยพบว่า พยาบาลวิชาชีพในกลุ่มที่ศึกษาครั้งนี้รับรู้ลักษณะการร่วมบริหารการพยาบาลในระดับหอผู้ป่วยดังนี้
1) มีการกระจายงานให้รับผิดชอบ 2) พัฒนางานสู่เป้าหมาย 3) ร่วมตัดสินใจในการแก้ปัญหา 4) ได้รับการเสริมพลังอำนาจ 5) มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และ 6) มีอิสระและรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ยังพบว่ามีผลที่เกิดจากการร่วมบริหารการพยาบาลได้แก่ 1) มีความภาคภูมิใจ 2) มีความร่วมมือร่วมใจ 3) เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง 4) เกิดพลังความรักในหน่วยงานและ 5) เพิ่มคุณภาพงานบริการพยาบาล
ผลจากการศึกษาครั้งนี้เสนอแนะให้ผู้บริหารทุกระดับของโรงพยาบาลศูนย์ได้พิจารณาถึงความสำคัญของประยุกต์ใช้การร่วมบริหารการพยาบาลในทุกหอผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพบริการ
|