การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาระดับ การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยของพยาบาลวิชาชีพ และหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยบางประการคือ ปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ ปัจจัยเสริมกับการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย และศึกษาความสามารถของปัจจัยในการทำนายการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลทั่วไป เขต 3 สังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2547 โดยประยุกต์ใช้ PRECEDE Framework ของลอร์เรนซ์ ดับบลิวกรีนและคณะกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นพยาบาลวิชาชีพระดับปฏิบัติการที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยสามัญ และหอผู้ป่วยพิเศษโรงพยาบาลทั่วไปเขต 3 ทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพิจิตร โรงพยาบาลกำแพงเพชร และโรงพยาบาลอุทัยธานี จำนวน 257 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและประยุกต์ใช้ ลักษณะแบบสอบถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่าของลิเคอร์ท 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหา ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการวิจัยพบว่า
1. พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่มีการปฏิบัติในการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยโดยรวมทุกด้านอยู่ในระดับมาก
( = 2.99 , SD = 0.46) และค่าคะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติทุกด้าน (การประเมินปัญหาและความต้องการ การวินิจฉัยปัญหา การวางแผน การลงมือปฏิบัติ และการประเมินผล) อยู่ในระดับมากเช่นกัน
2. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยของพยาบาลวิชาชีพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 คือ
ปัจจัยนำได้แก่ เจตคติ ( r = 0.321) และการรับรู้บทบาท ( r = 0.379 )
ปัจจัยเอื้อ ได้แก่ นโยบายของหน่วยงาน (r = 0.511 ) ระบบบริหารของหน่วยงาน ( r = 0.561 ) และการได้รับการฝึกอบรม ( r = 0.420 )
ปัจจัยเสริมได้แก่ การได้รับสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานและทีมสหสาขาวิชาชีพ ( r = 0.481 ) และการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติ ( r = 0.544 )
1. ปัจจัยที่สามารถร่วมกันทำนายการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยของพยาบาลวิชาชีพ คือ ระบบบริหารของ
หน่วยงาน การรับรู้บทบาท และการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยของพยาบาลวิชาชีพได้ร้อยละ 44.50
จากผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ถ้าต้องการเพิ่มระดับการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยเพื่อให้การวางแผนจำหน่ายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้บริหารหรือหน่วยงาน จะต้องสนับสนุนในด้านระบบการบริหารของหน่วยงานในเรื่อง การเตรียมเอกสาร ตำรา คู่มือ มาตรฐาน สนับสนุนด้านบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณ สนับสนุนบุคลากรให้ได้รับการฝึกอบรมมากขึ้น รวมทั้งเน้นการมีส่วนร่วมของทีมสหสาขาวิชาชีพ ผู้ป่วย ญาติ หรือ ครอบครัว พยาบาลวิชาชีพจะต้องรับรู้บทบาท มีการบันทึกและประเมินผลการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยให้มากขึ้น
|