การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูงในแผนกผู้ป่วยนอกและหน่วยบริการปฐมภูมิโรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยออกแบบเป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบไปข้างหน้า (Cohort or Prospective Analytic Design) ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รับบริการตามแบบแผนการรักษาโรคความดันโลหิตสูงของโรงพยาบาลหัวหินจำนวน 54 คน และตามแบบแผนการรักษาของหน่วยบริการปฐมภูมิจำนวน 36 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ทำการศึกษาในระยะเวลา 12 สัปดาห์ โดยการเก็บข้อมูลต้นทุนตามแบบบันทึกต้นทุนด้านผู้ให้บริการด้านการแพทย์ และเก็บข้อมูลต้นทุนด้านผู้ใช้บริการตามแบบสอบถามร่วมกับการติดตามตรวจวัดความดันโลหิตด้วย
เครื่องมือที่ผ่านการตรวจสอบความเที่ยงแล้ว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและสถิติวิเคราะห์ เปรียบเทียบต้นทุนกับประสิทธิผลบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูงเป็นสัดส่วน วิเคราะห์ความไวของต้นทุนด้วยสถิติถดถอยแบบง่าย
ผลการศึกษาพบว่าต้นทุน-ประสิทธิผลของการบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูงที่
โรงพยาบาลหัวหินเท่ากับ 75.05 บาทต่อมม.ปรอท และที่หน่วยบริการปฐมภูมิเท่ากับ 32.60 บาทต่อมม.ปรอท เมื่อพิจารณาด้านต้นทุนรวมของการบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูงพบว่าโรงพยาบาลหัวหินมีต้นทุนต่อหน่วยบริการเท่ากับ 1,223.27 บาท และหน่วยบริการปฐมภูมิเท่ากับ 444.76 บาท ประกอบด้วย 1) ต้นทุนด้านผู้ให้บริการด้านการแพทย์ 694.94 บาท และ 217.77 บาท 2) ต้นทุนด้านผู้ใช้บริการแบ่งเป็นต้นทุนด้านการแพทย์ 346.46 บาท และ 75.85 บาท ต้นทุนที่ไม่ใช่ด้านการแพทย์ 86.83บาท และ 44.40 บาท ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการเจ็บป่วย 95.04 บาท และ 106.67บาท ส่วนด้านประสิทธิผลพบว่าค่าเฉลี่ยการลดลงของความดันโลหิตสูงของผู้ใช้บริการที่โรงพยาบาลหัวหินและหน่วยบริการปฐมภูมิเท่ากับ 16.3 และ 13.6 มม.ปรอท การวิเคราะห์ความไว
ของต้นทุนพบว่า เวลาการคัดกรองโรคมีผลต่อการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงต้นทุน จากการศึกษาสรุปได้ว่า การให้บริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูงในหน่วยบริการปฐมภูมิมีต้นทุน-ประสิทธิผลสูงกว่าแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลหัวหิน เนื่องจากมีต้นทุนต่อหน่วยการลดลงของความดันโลหิตซิสโตลิกต่ำกว่า และความผันแปรของต้นทุนบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูงสามารถอธิบายได้ด้วยตัวแปรเวลาการคัดกรองโรค โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการดำเนินงานด้านการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มอายุเพื่อลดอัตราการป่วยและความรุนแรงของโรค ซึ่งจะส่งผลทำให้ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งด้านผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ และควรมีการศึกษาค้นคว้าต่อไปในหน่วยบริการปฐมภูมิหรือโรงพยาบาลอื่นๆเพื่อการประเมินผลที่มีความชัดเจนมากขึ้น
Contact Us | Terms of Use | Trademarks | Privacy Statement Copyright © 2009 ---. All Rights Reserved.
Web Template created with Artisteer.