งานบริการดูแลรักษาพยาบาลฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล เป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งงานหนึ่งในระบบงานบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นงานให้บริการผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุ ซึ่งถ้าการดำเนินงานด้อยคุณภาพหรือด้อยประสิทธิภาพ อาจทำให้ผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บเหล่านั้นได้รับอันตรายเพิ่มขึ้นจนอาจถึงกับพิการหรือเสียชีวิตได้ การวิจัยกึ่งทดลองชนิดกลุ่มเดียววัดก่อน-หลังการทดลองนี้ เพื่อพัฒนางานบริการดูแลรักษาพยาบาลฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลของโรงพยาบาลพญาไท2 ด้วยการนำหลักวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ ในการสร้างรูปแบบใหม่ของการดำเนินงานงานบริการดูแลรักษาพยาบาลฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและเหมาะสมกับพื้นที่ทดลอง แล้วนำไปทดลองใช้ที่แผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลพญาไท2 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาด 550 เตียง ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มีนาคม 2548 เป็นเวลา 3 เดือน เปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างก่อนกับหลังการนำรูปแบบใหม่ไปดำเนินการ ด้วยค่าสถิติพรรณนา ค่าสถิติวิลค็อกซัน และ ค่าสถิติที ที่ระดับแอลฟา = 0.05
ผลการวิจัย พบว่า หลังการทดลอง อัตราผู้รับบริการรายใหม่ในเวรเช้าและเวรบ่ายเพิ่มขึ้น (p =0.004 และ 0.005 ตามลำดับ) ความครบถ้วนและความถูกต้องของการเตรียมความพร้อมประจำเวรและประจำวันเพิ่มขึ้น ทุกรายการ (p < 0.01) ความครบถ้วนและความถูกต้องของการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนในแต่ละครั้งเพิ่มขึ้น (p < 0.01) ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมก่อนออกปฏิบัติงานลดลงทุกเวร (p < 0.05) ความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น (p = 0.001) ต้นทุนต่อหน่วยลดลง (p = 0.036) รายได้ ผลกำไรจากการดำเนินงาน ผลตอบแทนด้านค่าแรงที่สามารถปฏิบัติงานอื่นได้นอกเหนืองานประจำ และอัตราการใช้ประโยชน์จากพยาบาลในเวรที่ออกปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น (p < 0.001) ส่วนที่ไม่แตกต่างจากก่อนการทดลองได้แก่ การร้องขอรับบริการ
ปริมาณงานเมื่อเทียบกับแรงงานที่ใช้ ความพึงพอใจของผู้บริหารและผู้รับบริการ และการใช้ประโยชน์จากรถพยาบาลสรุปได้ว่า รูปแบบใหม่ของการดำเนินงานบริการดูแลรักษาพยาบาลฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะสมกับพื้นที่ทดลอง เนื่องจากมีระบบงานที่ชัดเจน มีวิธีการนำรูปแบบไปดำเนินการที่ดีเป็นที่ยอมรับจากผู้ปฏิบัติงาน มีคู่มือปฏิบัติงานที่ง่ายต่อการปฏิบัติ มีการเตรียมผู้ที่เกี่ยวข้องที่ดีมีการพัฒนารูปแบบขณะดำเนินการเป็นระยะ ๆ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องในขณะดำเนินการ ได้เสนอแนะให้ดำเนินการตามรูปแบบใหม่ต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี
โดยต้องติดตามประเมินผลและพัฒนาเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงยิ่ง ๆ ขึ้น รวมทั้งได้เสนอแนะแนวทางการนำสิ่งที่ได้จากการวิจัยนี้ ไปประยุกต์ใช้และขยายผลอย่างกว้างขวางทั้งในโรงพยาบาลพญาไท 2 และโรงพยาบาลอื่น ๆ
Contact Us | Terms of Use | Trademarks | Privacy Statement Copyright © 2009 ---. All Rights Reserved.
Web Template created with Artisteer.