รายละเอียดข้อมูลวิจัย

ลำดับที่ 2222
ผู้กรอกข้อมูล Petsunee
วันที่กรอกข้อมูล 18/5/2554
ชื่อเรื่องไทย การพัฒนางานบริการพยาบาล ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ โรงพยาบาลนครปฐม ปีงบประมาณ 2547
ชื่อเรื่องอังกฤษ DEVELOPMENT OF THE NURSING SERVICE FOR PATIENTS ON A VENTILATOR IN NAKORNPATHOM HOSPITAL THAILAND , FISCAL YEAR 2004
ชื่อผู้วิจัยหลัก พรทิพย์ บุญกันทะ
   
ชื่อผู้วิจัยร่วม
ผู้ร่วมวิจัย
สมชาติ โตรักษา
พีระ ครึกครื้นจิตร
รัตนา วงษ์พิทักษ์โรจน์
สังกัด มหาวิทยาลัยมหิดล(ศิริราช)
   
แหล่งทุน
ไม่พบข้อมูล
   
ประเภทของผลงาน วิทยานิพนธ์
แหล่งที่เก็บ
แหล่งที่เก็บข้อมูลโปรดระบุ(ชื่อ)
มหาวิทยาลัยมหิดล(ศิริราช) 
   
ปี 2547
บทคัดย่อ

งานบริการพยาบาลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นงานที่สำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยในความดูแลเป็นผู้ป่วยวิกฤต ที่ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด พยาบาลเป็นบุคลากรสำคัญ มีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่งต่อการ ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างของผู้ป่วย ปัญหาที่พบ คือเทคนิคในการให้บริการพยาบาลยังไม่ถูกต้อง ระบบงานขาดการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เริ่มต้น กระบวนการขั้นตอนของกิจกรรมพยาบาล ยังไม่มีการกำหนดชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้วิจัยจึงทำวิจัยกึ่งทดลองชนิดสองกลุ่มก่อน-หลังการดำเนินงานขึ้น โดยนำหลักวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาประยุกต์ในการสร้างรูปแบบการดำเนินงานใหม่ เพื่อใช้ในพื้นที่ทดลอง คือ โรงพยาบาลนครปฐม และให้โรงพยาบาลตติยภูมิที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นพื้นที่ควบคุม ในระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2547 รวม 3 เดือน เปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างก่อนกับหลังการนำรูปแบบใหม่ไปใช้ ในด้านปริมาณงาน คุณภาพงาน เวลาที่ใช้ ความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง และค่าใช้จ่ายในการให้บริการ ด้วยค่าสถิติ แมนวิทนียู วิลคอกสันซายน์แรงค์ และค่าสถิติที ที่ระดับแอลฟา = 0.05

ผลการวิจัยพบว่า อัตราส่วนจำนวนครั้งของการให้บริการพยาบาลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจต่อปริมาณแรงงานเจ้าหน้าที่ 1,000 คน/นาที เพิ่มขึ้น (p < 0.001) อัตราความถูกต้องของการเตรียมความพร้อมประจำเวรก่อนเริ่มปฏิบัติงานในงานดูดเสมหะของเวรดึก งานทำความสะอาดปากและฟันของเวรเช้า บ่าย ดึก เพิ่มขึ้น (p = 0.020, 0.025,0.025 และ 0.025 ตามลำดับ) อัตราความถูกต้องของการล้างมือก่อนให้การพยาบาลเพิ่มขึ้น (p = 0.007) อัตราการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างของผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจลดลง ระดับความพึงพอใจของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น (p = 0.039) สรุปได้ว่า รูปแบบการดำเนินงานบริการพยาบาลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพสูง และเหมาะสมกับพื้นที่ทดลอง เนื่องจากมีระบบงานที่ชัดเจน มีการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มปฏิบัติงาน มีวิธีการนำรูปแบบไปดำเนินงานที่ดี โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้น มีคู่มือการปฏิบัติงานที่ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ และมีการใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ได้เสนอแนะให้นำรูปแบบนี้ไปดำเนินงานต่อไป เพื่อให้เกิดการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องและเป็นตัวอย่างของการพัฒนาหน่วยงาน รวมทั้งการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานอื่น ๆ ทั้งหลาย ของทุก ๆ โรงพยาบาล

URL
วัตถุประสงค์ พัฒนางานบริการพยาบาล ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ โรงพยาบาลนครปฐม ปีงบประมาณ 2547
 
    พิมพ์หน้านี้