การศึกษาเชิงปรากฏการณ์วิทยานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์การจัดการความเครียดจากการทำงานของหัวหน้าหอผู้ป่วย ผู้ให้ข้อมูลเป็นหัวหน้าหอผู้ป่วยที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานอายุรกรรมและหน่วยงานวิกฤต ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหอผู้ป่วยอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป ในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่งเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 16 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการบันทึกเทป นำข้อมูลที่ได้มาถอดความแบบคำต่อคำ วิเคราะห์ข้อมูลตามวิธีการของ Colaizzi
ผลการศึกษาพบว่า หัวหน้าหอผู้ป่วยให้ความหมายการจัดการความเครียดจากการทำงาน คือ การควบคุมความเครียดที่เกิดขึ้นได้ และการทำใจ ส่วนประสบการณ์การจัดการความเครียดจากการทำงานของหัวหน้าหอผู้ป่วยพบ 6 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก คือ การปรับตัวเข้ากับงานที่ทำ โดยการวางแผนการทำงานแต่ละวัน การพยายามศึกษาเรียนรู้งาน การทำงานด้วยใจรักและสนุกกับงาน ประเด็นที่ 2 การปรึกษากับครอบครัวและผู้ร่วมงาน ประเด็นที่ 3 การใช้หลักธรรมะลดความเครียด เพื่อให้มีการทำงานอย่างมีสติ และช่วยให้รู้จักปล่อยวาง ประเด็นที่ 4 การทำงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายความเครียด ประเด็นที่ 5 การแก้ไขปัญาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เคยมีมา และสร้างความชำนาญในการแก้ปัญหาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ประเด็นสุดท้าย ต้องการแรงสนับสนุนเชิงบวก นอกจากนี้การศึกษายังค้นพบสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียด ได้แก่ การได้ตำแหน่งหัวหน้าหอผู้ป่วย โดยการย้ายมาจากหน่วยงานอื่น และการขึ้นมาจากหน่วยงานที่ปฏิบัติงานอยู่เดิม ลักษณะงานที่ทำให้หัวหน้าหอผู้ป่วยเกิดความเครียดประกอบไปด้วย ภาระงานมากทำให้ไม่ทันเวลา งานที่ต้องดำเนินการด่วน งานที่ต้องแก้ไขซ้ำหลายครั้ง งานไม่เสร็จสิ้น
ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ เป็นข้อมูลพื้นฐานให้ผู้บริหารโรงพยาบาลและฝ่ายการพยาบาลได้เข้าใจและได้จัดระบบบริหารแนวทางในการลดสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดจากการทำงานของหัวหน้าหอผู้ป่วย มีแนวทางในการจัดการความเครียดจากการทำงานอย่างเหมาะสม อันจะนำมาซึ่งการปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ และก่อให้เกิดผลดีต่อผู้มารับบริการผู้ร่วมงาน และองค์การ
|