การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปฏิบัติกิจกรรมการเยี่ยมตรวจทางการพยาบาลและการใช้กระบวนการจัดการในการเยี่ยมตรวจทางการพยาบาล ตลอดจนเปรียบเทียบการใช้กระบวนการจัดการในการเยี่ยมตรวจทางการพยาบาลของหัวหน้าหอผู้ป่วย ในโรงพยาบาลของรัฐ เขตกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างจำนวน 96 คน เลือกโดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบบันทึกการสังเกตและแบบสัมภาษณ์ที่สร้างโดยผู้วิจัยซึ่งผ่านการทดสอบความตรงตามเนื้อหา และความคงที่ภายใน (a = 0.98) ผลการวิจัยพบว่า
1. หัวหน้าหอผู้ป่วย มีการปฏิบัติกิจกรรมการเยี่ยมตรวจทางการพยาบาลโดยรวมการปฏิบัติกิจกรรมการเยี่ยมตรวจผู้ป่วย การปฏิบัติกิจกรรมการเยี่ยมตรวจบุคลากร และการปฏิบัติกิจกรรมการเยี่ยมตรวจสาธารณะอยู่ในระดับน้อย ส่วนการปฏิบัติกิจกรรมการเยี่ยมตรวจโรงพยาบาลอยู่ในระดับปานกลาง
2. หัวหน้าหอผู้ป่วยใช้กระบวนการจัดการในการเยี่ยมตรวจทางการพยาบาลโดยรวมด้านการวางแผน การดำเนินงาน และการประเมินผล อยู่ในระดับมาก
3. หัวหน้าหอผู้ป่วยที่มีประสบการณ์การปฏิบัติงาน ในระยะเวลาที่แตกต่างกันใช้กระบวนการจัดการในการเยี่ยมตรวจทางการพยาบาลไม่แตกต่างกันกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. หัวหน้าหอผู้ป่วยที่ปฏิบัติงานในแผนกสูติ-นรีเวชกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม และกุมารเวชกรรม ใช้กระบวนการจัดการในการเยี่ยมตรวจทางการพยาบาลไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5. หัวหน้าหอผู้ป่วยที่ได้รับการอบรมทางการบริหาร ใช้กระบวนการจัดการในการเยี่ยมตรวจทางการพยาบาลมากกว่าหัวหน้าหอผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการอบรมทางการบริหารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
|