การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรูปแบบการรายงานเปลี่ยนเวรและการเปรียบเทียบการรับรู้คุณค่าการรายงานทางการพยาบาลก่อนและหลังการใช้รูปแบบการรายงานเปลี่ยนเวร โดยใช้โปรแกรมการทดลองตามกระบวนการทฤษฎีการพยาบาลของคิง ทั้งหมด 5 ขั้นตอน คือ การประเมินปัญหา การกำหนดเป้าหมาย การค้นหาวิธีการปฏิบัติ การยอมรับวิธีการปฏิบัติ และการปฏิบัติตามเป้าหมาย ในการรายงานเปลี่ยนเวรตามรูปแบบที่สร้างขึ้นกับการรายงานเปลี่ยนเวรตามปกติ กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพที่รับผิดชอบในการรายงานเปลี่ยนเวรใน 3 หอผู้ป่วยโรงพยาบาลดำเนินสะดวก (ศัลยกรรมชาย อายุรกรรมหญิง และกุมารเวชกรรม) จำนวน 12 คน โดยเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการวิจัยเป็นโปรแกรมทดลองตามกระบวนการทฤษฎีการพยาบาลของคิงและคู่มือการรายงานเปลี่ยนเวร และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสังเกตพฤติกรรม แบบสัมภาษณ์และสังเกตพฤติกรรม และแบบสอบถาม
ผลการวิจัยพบว่า พยาบาลวิชาชีพมีการรับรู้คุณค่าการรายงานทางการพยาบาลหลังใช้รูปแบบการรายงานเปลี่ยนเวรตามทฤษฎีการพยาบาลของคิง มีรายละเอียดดังนี้
1. ความครอบคลุมตามกระบวนการของการรายงานเปลี่ยนเวรหลังทดลองใช้โปรแกรมการทดลองตามกระบวนการทฤษฎีการพยาบาลของคิง ในการรายงานเปลี่ยนเวรของพยาบาลวิชาชีพตามรูปแบบที่สร้างขึ้นกับรายงานเปลี่ยนเวรปกติ มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ( x = 10.75, 10.92)
2.การปฏิบัติตามขั้นตอนการบรรลุเป้าหมายของการรายงานเปลี่ยนเวรของพยาบาลวิชาชีพหลังทดลองใช้โปรแกรมการทดลองตามกระบวนการทฤษฎีการพยาบาลของคิง ในการรายงานเปลี่ยนเวรของพยาบาลวิชาชีพตามรูปแบบที่สร้างขึ้นกับการรายงานเปลี่ยนเวรปกติ มีค่าเฉลี่ยการรายงานเปลี่ยนเวรสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ( x = 14.50, 20)
3.ประโยชน์ของการรายงานเปลี่ยนเวรของพยาบาลวิชาชีพหลังทดลองใช้โปรแกรมการทดลองตามกระบวนการทฤษฎีการพยาบาลของคิง ในการรายงานเปลี่ยนเวรของพยาบาลวิชาชีพตามรูปแบบที่สร้างขึ้นกับการรายงานเปลี่ยนเวรปกติ มีค่าเฉลี่ยการรายงานเปลี่ยนเวรไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ (x=4.06, 4.39)
|